ค่านิยมเพ็ญ Phen Team

****P-H-E-N ******* P = Professional = เป็นมืออาชีพ (เสียสละ สามัคคี มีวินัย) ****** H = Happiness = มีความสุข (เสมอภาค โปร่งใส เป็นธรรม) ******** E = Excellence เป็นต้นแบบ (บริหารยอด วิชาการเยี่ยม บริการเป็นเลิศ) ********* N = Network มีส่วนร่วม (ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ)*******






ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

***** เรื่อง รับขึ้นทะเบียน สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี ***** เป็นหน่วยบริการตามกฏหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ๑๐๔๕) พ.ศ.๒๕๖๕ ***** ประเภท หน่วยบริการที่รับส่งต่อเฉพาะด้านแพทย์แผนไทย ***** ตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๕ **** ประกาศ ณ วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๕ *******






ค้นหาข่าว โดย ใช้ข้อความ คำสำคัญ ที่เกี่ยวข้อง

วันเสาร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2553

พรบ.โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2535

พรบ.โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2535

พระราชบัญญัติ
โรคพิษสุนัขบ้า
พ.ศ. ๒๕๓๕
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๕
เป็นปีที่ ๔๗ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้าพ.ศ. ๒๕๓๕”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. ๒๔๙๘
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“สัตว์ควบคุม” หมายความว่า สุนัขหรือสัตว์อื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง
“เจ้าของ” หมายความรวมถึงผู้ครอบครองด้วย
“วัคซีน” หมายความว่า วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสำหรับสัตว์
“เครื่องหมายประจำตัวสัตว์” หมายความว่า เครื่องหมายประจำตัวสัตว์ควบคุม
“อาการของโรคพิษสุนัขบ้า” หมายความว่า ในกรณีของสุนัข อาการที่สุนัขนั้นดุร้าย วิ่งเพ่นพ่านกัดสิ่งกีดขวางหรือเซื่องซึมซุกตัวในที่มืด ปากอ้า ลิ้นห้อยและสีแดงคล้ำ น้ำลายไหล ตัวแข็ง หรือขาอ่อนเปลี้ย เดินโซเซ และในกรณีของสัตว์ควบคุมอื่น อาการตามที่อธิบดีประกาศกำหนด
“ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์” หมายความว่า ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการบำบัดโรคสัตว์
“สัตวแพทย์” หมายความว่า สัตวแพทย์ของกรมปศุสัตว์หรือของราชการส่วนท้องถิ่น และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งมีวุฒิไม่ต่ำกว่าประกาศนียบัตรวิชาสัตวแพทยศาสตร์ซึ่งปฏิบัติงานในหน่วยงานอื่นของรัฐ ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้เป็นสัตวแพทย์เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า สัตวแพทย์และผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
“เจ้าพนักงานท้องถิ่น” หมายความว่า
(๑) นายกเทศมนตรีสำหรับในเขตเทศบาล
(๒) ประธานกรรมการสุขาภิบาลสำหรับในเขตสุขาภิบาล
(๓) ผู้ว่าราชการจังหวัดสำหรับในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด
(๔) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร
(๕) ปลัดเมืองพัทยาสำหรับในเขตเมืองพัทยา
(๖) หัวหน้าผู้บริหารท้องถิ่นขององค์การปกครองท้องถิ่นที่กฎหมายกำหนดให้เป็นราชการส่วนท้องถิ่นสำหรับในเขตราชการส่วนท้องถิ่นนั้น
“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมปศุสัตว์
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๕ เจ้าของสัตว์ควบคุมต้องจัดการให้สัตว์ควบคุมทุกตัวได้รับการฉีดวัคซีนจากสัตวแพทย์ หรือผู้ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ตามกำหนดเวลาดังนี้
(๑) ในกรณีของสุนัข ให้เจ้าของจัดการให้สุนัขได้รับการฉีดวัคซีนครั้งแรกเมื่อสุนัขนั้นมีอายุตั้งแต่สองเดือนขึ้นไปแต่ไม่เกินสี่เดือน และได้รับการฉีดวัคซีนครั้งต่อไปตามระยะเวลาที่กำหนดในใบรับรองการฉีดวัคซีน
(๒) ในกรณีของสัตว์ควบคุมอื่น ให้เจ้าของจัดการให้สัตว์ควบคุมดังกล่าวได้รับการฉีดวัคซีนตามระยะเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวง
ในกรณีที่สัตวแพทย์หรือผู้ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์เป็นผู้ฉีดวัคซีน เจ้าของสัตว์ควบคุมต้องเสียค่าธรรมเนียม ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง และในกรณีที่เจ้าของสัตว์ควบคุมแจ้งให้สัตวแพทย์หรือผู้ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ไปทำการฉีดวัคซีนให้แก่สัตว์ควบคุม ณ สถานที่ของเจ้าของสัตว์ควบคุม เจ้าของสัตว์ควบคุมต้องเสียค่าใช้จ่ายตามที่อธิบดีประกาศกำหนด
มาตรา ๖ เมื่อสัตว์ควบคุมได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว สัตวแพทย์หรือผู้ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ ซึ่งเป็นผู้ฉีดวัคซีนต้องมอบเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ ซึ่งแสดงว่าสัตว์ควบคุมนั้นได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว และใบรับรองการฉีดวัคซีนให้แก่เจ้าของสัตว์ควบคุม
เจ้าของสัตว์ควบคุมต้องแสดงเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ตามวรรคหนึ่งไว้ที่ตัวสัตว์ควบคุมให้เห็นได้ชัดเจน
ลักษณะเครื่องหมายประจำตัวสัตว์และใบรับรองการฉีดวัคซีนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด
มาตรา ๗ ในกรณีที่เครื่องหมายประจำตัวสัตว์หรือใบรับรองการฉีดวัคซีนตามมาตรา ๖ สูญหาย หรือชำรุดในสาระสำคัญก่อนที่เครื่องหมายประจำตัวสัตว์หมดอายุหรือก่อนระยะเวลาที่กำหนดไว้ในใบรับรองการฉีดวัคซีนนั้น แล้วแต่กรณี ให้เจ้าของสัตว์ควบคุมขอรับเครื่องหมายประจำตัวสัตว์หรือใบรับรองการฉีดวัคซีนแทนของเดิม แล้วแต่กรณี ภายในสิบห้าวันนับแต่วันทราบเหตุนั้น และต้องแสดงเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ดังกล่าวไว้ที่ตัวสัตว์ควบคุมให้เห็นได้ชัดเจน
ในกรณีที่เจ้าของสัตว์ควบคุมขอรับเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ หรือใบรับรองการฉีดวัคซีนแทนของเดิมตามวรรคหนึ่ง จากสัตวแพทย์หรือผู้ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ เจ้าของสัตว์ควบคุมต้องเสียค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๘ สัตวแพทย์ต้องเก็บสำเนาใบรับรองการฉีดวัคซีนและหลักฐานการจ่ายเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ตามมาตรา ๖ ไว้ตามระเบียบของทางราชการ
ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ต้องเก็บสำเนาใบรับรองการฉีดวัคซีนและหลักฐานการจ่ายเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ตามมาตรา ๖ ไว้ตามระยะเวลาที่กำหนดในใบรับรองการฉีดวัคซีนนั้น
มาตรา ๙ ในที่สาธารณะ ถ้าปรากฏว่าสัตว์ควบคุมใดไม่มีเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ตามมาตรา ๖ หรือมาตรา ๗ หรือมีแต่เป็นเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ปลอม ให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจจับสัตว์ควบคุมนั้นเพื่อกักขัง ถ้าไม่มีเจ้าของมาขอรับคืนภายในห้าวัน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจทำลายสัตว์ควบคุมนั้นได้
มาตรา ๑๐ เพื่อป้องกันการแพร่โรคพิษสุนัขบ้า ให้สัตวแพทย์มีอำนาจเข้าไปในบ้าน โรงเรือน หรือสถานที่ เพื่อปฏิบัติการดังต่อไปนี้
(๑) สอบถามจำนวน เพศ พันธุ์ อายุ และสีของสัตว์ควบคุมจากเจ้าของสัตว์ควบคุม
(๒) ในกรณีที่พบว่าสัตว์ควบคุมใดยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนตามมาตรา ๕ให้ฉีดวัคซีนให้แก่สัตว์ควบคุมนั้น ในการนี้ เจ้าของสัตว์ควบคุมนั้นต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า
(๓) นำหัวสัตว์ควบคุมที่ตายหรือมีเหตุสงสัยว่าตายด้วยโรคพิษสุนัขบ้าไปรับการตรวจชันสูตร
(๔) สั่งให้เจ้าของสัตว์ควบคุมทำลายซากสัตว์ควบคุมที่ตายด้วยโรคพิษสุนัขบ้าด้วยวิธีฝังหรือวิธีอื่นใด
การเข้าไปในบ้าน โรงเรือน หรือสถานที่ ตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้ในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก
มาตรา ๑๑ เมื่อปรากฏว่าสัตว์ควบคุมใดมีอาการของโรคพิษสุนัขบ้าให้เจ้าของสัตว์ควบคุมนั้นแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่พบว่าสัตว์ควบคุมนั้นมีอาการของโรคพิษสุนัขบ้า
มาตรา ๑๒ ในกรณีที่สัตว์ควบคุมใดถูกสัตว์ควบคุมอื่นที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ไม่ว่าสัตว์ควบคุมที่ถูกกัดจะได้รับการฉีดวัคซีนแล้วหรือไม่ ให้เจ้าของสัตว์ควบคุมนั้นแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่รู้ว่าถูกกัด เพื่อให้สัตว์ควบคุมนั้นได้รับการฉีดวัคซีน
ให้เจ้าของสัตว์ควบคุมเฝ้าสังเกตอาการของสัตว์ควบคุมที่ถูกกัดไว้เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าหกเดือนนับแต่เวลาที่รู้ว่าถูกกัด หากปรากฏว่าสัตว์ควบคุมนั้นมีอาการของโรคพิษสุนัขบ้าภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้เจ้าของสัตว์ควบคุมกักขังสัตว์ควบคุมนั้นไว้และแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่พบว่าสัตว์ควบคุมนั้นมีอาการของโรคพิษสุนัขบ้า
ในกรณีที่สัตว์ควบคุมที่เจ้าของสัตว์ควบคุมเฝ้าสังเกตอาการตามวรรคสองตาย หรือสูญหายภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้เจ้าของสัตว์ควบคุมนั้นแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่รู้ว่า ตาย หรือสูญหาย และให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
มาตรา ๑๓ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้รับแจ้งตามมาตรา ๑๑ หรือมาตรา ๑๒ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นแจ้งต่อสัตวแพทย์เพื่อดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๑๔
มาตรา ๑๔ เมื่อสัตวแพทย์ได้รับแจ้งหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าสัตว์ควบคุมใดมีอาการของโรคพิษสุนัขบ้าในยานพาหนะ บ้าน โรงเรือน หรือสถานที่ใด ให้สัตวแพทย์มีอำนาจเรียกตรวจยานพาหนะหรือเข้าไปในบ้าน โรงเรือน หรือสถานที่ที่มีสัตว์ควบคุมดังกล่าวและมีอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่ปรากฏว่าสัตว์ควบคุมไม่มีอาการของโรคพิษสุนัขบ้า แต่สัตวแพทย์เห็นว่าสัตว์ควบคุมดังกล่าวควรได้รับการฉีดวัคซีน ให้ฉีดวัคซีนให้แก่สัตว์ควบคุมนั้น ถ้าปรากฏว่าสัตว์ควบคุมนั้นได้รับการฉีดวัคซีนตามมาตรา ๕ แล้ว เจ้าของสัตว์ควบคุมไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมอีก แต่ถ้าปรากฏว่าสัตว์ควบคุมนั้นยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนตามมาตรา ๕ เจ้าของสัตว์ควบคุมต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า
(๒) ในกรณีที่สัตวแพทย์สงสัยว่าสัตว์ควบคุมใดมีอาการของโรคพิษสุนัขบ้าและยังมิได้มีการกักขังสัตว์ควบคุมนั้น ให้สัตวแพทย์สั่งให้เจ้าของสัตว์ควบคุมกักขังสัตว์ควบคุมนั้นไว้โดยเร็วเพื่อป้องกันมิให้แพร่โรคพิษสุนัขบ้าเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน และสัตวแพทย์ต้องไปตรวจอาการของสัตว์ควบคุมนั้นตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
(๓) ในกรณีที่สัตว์ควบคุมใดมีอาการของโรคพิษสุนัขบ้า ให้สัตวแพทย์มีอำนาจทำลายสัตว์ควบคุมนั้นได้
การเข้าไปในบ้าน โรงเรือน หรือสถานที่ตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้ในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก
มาตรา ๑๕ ในที่สาธารณะ ถ้าปรากฏว่าสัตว์ควบคุมใดมีอาการของโรคพิษสุนัขบ้า ให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจทำลายสัตว์ควบคุมนั้นได้
มาตรา ๑๖ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่จะเกิดกับคน ในกรณีที่สัตวแพทย์ตรวจพบว่าสัตว์ควบคุมใดมีอาการของโรคพิษสุนัขบ้า หรือมีเหตุสงสัยว่าสัตว์ควบคุมใดมีอาการของโรคพิษสุนัขบ้า ให้สัตวแพทย์รีบแจ้งเจ้าพนักงานสาธารณสุขเพื่อดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อโดยเร็วที่สุด
มาตรา ๑๗ เพื่อป้องกันการเกิดและการแพร่โรคพิษสุนัขบ้า ให้อธิบดีมีอำนาจประกาศกำหนดเขตท้องที่
(๑) ให้เจ้าของสัตว์ควบคุมนำสัตว์ควบคุมไปรับการฉีดวัคซีนจากสัตวแพทย์หรือผู้ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ ตามวัน เวลา และสถานที่ที่สัตวแพทย์กำหนดโดยสัตวแพทย์ดังกล่าวจะได้ประกาศกำหนด วัน เวลา และสถานที่เพื่อการนั้น ปิดไว้ล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ณ สถานที่ที่จะทำการฉีดวัคซีน และสำนักงานเขต ที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอที่ทำการตำบล ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน สำนักงานเทศบาล สำนักงานสุขาภิบาล ศาลาว่าการเมืองพัทยา หรือที่ทำการขององค์การปกครองท้องถิ่นที่กฎหมายกำหนดให้เป็นราชการส่วนท้องถิ่นสำหรับในเขตราชการส่วนท้องถิ่นนั้น แล้วแต่กรณี
(๒) ให้สัตวแพทย์หรือผู้ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ ไปทำการฉีดวัคซีนให้แก่สัตว์ควบคุม ณ สถานที่ของเจ้าของสัตว์ควบคุม
ในการฉีดวัคซีนให้แก่สัตว์ควบคุมตามวรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) เจ้าของสัตว์ควบคุมไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
ประกาศของอธิบดีตามมาตรานี้ให้แจ้งให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อแจ้งให้ราชการส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องดำเนินการ แล้วแต่กรณี
มาตรา ๑๘ ในการโอนกรรมสิทธิ์สัตว์ควบคุมที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วเจ้าของสัตว์ควบคุมต้องมอบเครื่องหมายประจำตัวสัตว์และใบรับรองการฉีดวัคซีนตามมาตรา ๖ หรือมาตรา ๗ ให้ผู้รับโอนด้วย
ถ้าเป็นสัตว์ควบคุมที่อยู่ในระหว่างการเฝ้าสังเกตอาการตามมาตรา ๑๒ วรรคสอง ห้ามมิให้มีการจำหน่าย จ่าย โอน สัตว์ควบคุมนั้น
มาตรา ๑๙ ในกรณีที่สัตว์อื่นนอกจากสัตว์ควบคุมถูกสัตว์ควบคุมที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ให้นำมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) (๔) และวรรคสอง มาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๔ วรรคหนึ่ง (๒) (๓) และวรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๒๐ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง
บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๒๑ เจ้าของสัตว์ควบคุมผู้ใดไม่จัดการให้สัตว์ควบคุมได้รับการฉีดวัคซีนตามมาตรา ๕ หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖ วรรคสอง มาตรา ๗ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๑๘ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท
มาตรา ๒๒ สัตวแพทย์หรือผู้ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท
มาตรา ๒๓ ผู้ใดใช้เครื่องหมายประจำตัวสัตว์ซึ่งแสดงว่าสัตว์ควบคุมนั้นได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว หรือใบรับรองการฉีดวัคซีนอันเป็นเท็จ หรือขัดขวาง หรือไม่อำนวยความสะดวกแก่สัตวแพทย์ พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๙ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง มาตรา ๑๔ วรรคหนึ่ง มาตรา ๑๕ หรือมาตรา ๑๙ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๒๔ เจ้าของสัตว์ควบคุมหรือเจ้าของสัตว์อื่นตามมาตรา ๑๙ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของสัตวแพทย์ตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๔) หรือมาตรา ๑๔ วรรคหนึ่ง (๒) หรือไม่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา ๑๑ หรือมาตรา ๑๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินสามพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๒๕ เจ้าของสัตว์ควบคุมหรือเจ้าของสัตว์อื่นตามมาตรา ๑๙ ผู้ใดไม่เฝ้าสังเกตอาการสัตว์ควบคุมหรือสัตว์อื่นที่ถูกกัดไว้ตามมาตรา ๑๒ หรือเจ้าของสัตว์ควบคุมฝ่าฝืนมาตรา ๑๘ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๒๖ บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้อธิบดีหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดีหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วแต่กรณี มีอำนาจเปรียบเทียบได้ และเมื่อผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ให้คดีนั้นเป็นอันเลิกกัน
มาตรา ๒๗ ให้เจ้าของสัตว์ควบคุมซึ่งมีสัตว์ควบคุมที่มีอายุครบกำหนดได้รับการฉีดวัคซีนตามมาตรา ๕ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ดำเนินการตามมาตรา ๕ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา ๒๘ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งสัตวแพทย์และพนักงานเจ้าหน้าที่ กับออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ ลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียม และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
อานันท์ ปันยารชุน
นายกรัฐมนตรี


อัตราค่าธรรมเนียม
การฉีดวัคซีน ตัวละ ๔๐ บาท
เครื่องหมายประจำตัวสัตว์ตามมาตรา ๖ หรือมาตรา ๗ อันละ ๑๐ บาท
ใบรับรองการฉีดวัคซีนตามมาตรา ๖ หรือมาตรา ๗ ฉบับละ ๑๐ บาท


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อที่มีอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์ และบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. ๒๔๙๘ ยังไม่เหมาะสมที่จะควบคุมและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลดี นอกจากนั้น กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมและป้องกันโรคระบาดสัตว์ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. ๒๔๙๙ มีสัตวแพทย์เพียงพอปฏิบัติหน้าที่อยู่ทั่วประเทศ กับสามารถผลิตวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสำหรับสัตว์ได้เองในราคาถูก จึงเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมและเหมาะสมในการควบคุมและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ให้มีบทบัญญัติที่เหมาะสมยิ่งขึ้นและกำหนดให้กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

รวมประกาศและ ข่าว สำนักงานสาธาณสุขอำเภอเพ็ญ ทั้งหมด

ตารางปฏิบัติงานสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเพ็ญ