ค่านิยมเพ็ญ Phen Team

****P-H-E-N ******* P = Professional = เป็นมืออาชีพ (เสียสละ สามัคคี มีวินัย) ****** H = Happiness = มีความสุข (เสมอภาค โปร่งใส เป็นธรรม) ******** E = Excellence เป็นต้นแบบ (บริหารยอด วิชาการเยี่ยม บริการเป็นเลิศ) ********* N = Network มีส่วนร่วม (ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ)*******






ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

***** เรื่อง รับขึ้นทะเบียน สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี ***** เป็นหน่วยบริการตามกฏหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ๑๐๔๕) พ.ศ.๒๕๖๕ ***** ประเภท หน่วยบริการที่รับส่งต่อเฉพาะด้านแพทย์แผนไทย ***** ตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๕ **** ประกาศ ณ วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๕ *******






ค้นหาข่าว โดย ใช้ข้อความ คำสำคัญ ที่เกี่ยวข้อง

วันเสาร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2553

พรบ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2499

พรบ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2499

พระราชบัญญัติ
โรคระบาดสัตว์
พ.ศ. ๒๔๙๙
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๙
เป็นปีที่ ๑๑ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. ๒๔๙๙”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
(๑) พระราชบัญญัติโรคระบาดปศุสัตว์ และสัตว์พาหนะ พุทธศักราช ๒๔๗๔
(๒) พระราชบัญญัติโรคระบาดปศุสัตว์และสัตว์พาหนะ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๘ และ
(๓) พระราชบัญญัติโรคระบาดปศุสัตว์และสัตว์พาหนะ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๗
ในกรณีที่มีบทกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับอื่น ขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้บังคับแทน
มาตรา ๔ นพระราชบัญญัตินี้
“สัตว์” หมายความว่า
(๑) ช้าง ม้า โค กระบือ ลา ล่อ แพะ แกะ สุกร สุนัข แมว กระต่าย ลิง ชะนี และให้หมายความรวมถึงน้ำเชื้อสำหรับผสมพันธุ์ และเอ็มบริโอ (ตัวอ่อนของสัตว์ที่ยังไม่เจริญเติบโตจนถึงขั้นที่มีอวัยวะครบบริบูรณ์) ของสัตว์เหล่านี้ด้วย
(๒) สัตว์ปีก จำพวกนก ไก่ เป็ด ห่าน และให้หมายความรวมถึงไข่สำหรับใช้ทำพันธุ์ด้วย และ
(๓) สัตว์ชนิดอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
“ซากสัตว์” หมายความว่า ร่างกายหรือส่วนของร่างกายสัตว์ที่ตายแล้ว และยังไม่ได้แปรสภาพเป็นอาหารสุก หรือสิ่งประดิษฐ์สำเร็จรูป และให้หมายความรวมถึงงา เขา และขน ที่ได้ตัดออกจากสัตว์ขณะมีชีวิตและยังไม่ได้แปรสภาพเป็นสิ่งประดิษฐ์สำเร็จรูปด้วย
“โรคระบาด” หมายความว่า โรครินเดอร์เปสต์ โรคเฮโมรายิกเซพติซีเมีย โรคแอนแทรกซ์ โรคเซอร่า โรคสารติก โรคมงคล่อพิษ โรคปากและเท้าเปื่อย โรคอหิวาต์สุกร และโรคอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
“เจ้าของ” หมายความรวมถึงผู้ครอบครอง ในกรณีที่เกี่ยวกับสัตว์เมื่อไม่ปรากฏเจ้าของ ให้หมายความรวมถึงผู้เลี้ยงและผู้ควบคุมด้วย
“ท่าเข้า” หมายความว่า ที่สำหรับนำสัตว์และซากสัตว์เข้าในราชอาณาจักร
“ท่าออก” หมายความว่า ที่สำหรับนำสัตว์และซากสัตว์ออกนอกราชอาณาจักร
“ด่านกักสัตว์” หมายความว่า ที่สำหรับกักสัตว์หรือซากสัตว์เพื่อตรวจโรคระบาด
“การค้า” หมายความว่า การค้าในลักษณะคนกลาง
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง
“สารวัตร” หมายความว่า สารวัตรของกรมปศุสัตว์ หรือผู้ซึ่งอธิบดีแต่งตั้ง
“นายทะเบียน” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นนายทะเบียน
“สัตวแพทย์” หมายความว่า สัตวแพทย์ของกรมปศุสัตว์ หรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง
“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมปศุสัตว์
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๕ พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับในกรณีเกี่ยวกับสัตว์ของกระทรวงกลาโหม และส่วนราชการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๖ สำหรับสุนัข แมว กระต่าย ลิง ชะนี รวมถึงน้ำเชื้อสำหรับผสมพันธุ์สัตว์เหล่านี้ และสัตว์ปีกจำพวกนก ไก่ เป็ด ห่าน รวมถึงไข่สำหรับใช้ทำพันธุ์ ให้พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเฉพาะการนำเข้า นำออกหรือนำผ่านราชอาณาจักร หรือการอย่างอื่น ตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ นายทะเบียน และสัตวแพทย์ และออกกฎกระทรวงวางระเบียบการขอและการออกใบอนุญาต กำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ หรือยกเว้นค่าธรรมเนียมเฉพาะกรณี และกำหนดการอื่นๆ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
การป้องกันโรคระบาด
มาตรา ๘ ในท้องที่ที่ยังมิได้ประกาศเป็นเขตปลอดโรคระบาดตามหมวด ๒ หรือในท้องที่ที่ยังมิได้ประกาศเป็นเขตโรคระบาด เขตสงสัยว่ามีโรคระบาด หรือเขตโรคระบาดชั่วคราวตามหมวด ๓ ถ้ามีสัตว์ป่วยหรือตายโดยรู้ว่าเป็นโรคระบาด หรือมีสัตว์ป่วยหรือตายโดยปัจจุบันอันไม่อาจคิดเห็นได้ว่าป่วยหรือตายโดยเหตุใด หรือในหมู่บ้านเดียวกัน หรือในบริเวณใกล้เคียงกัน มีสัตว์ตั้งแต่สองตัวขึ้นไปป่วยหรือตาย มีอาการคล้ายคลึงกันในระยะเวลาห่างกันไม่เกินเจ็ดวัน ให้เจ้าของแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สารวัตร หรือสัตวแพทย์ท้องที่ภายในเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่สัตว์ป่วยหรือตาย
ในกรณีที่สัตว์ป่วยตามวรรคก่อน ให้เจ้าของควบคุมสัตว์ป่วยทั้งหมดไว้ภายในบริเวณที่สัตว์อยู่ และห้ามมิให้เจ้าของหรือบุคคลอื่นใดเคลื่อนย้ายสัตว์ป่วยไปจากบริเวณนั้น ในกรณีที่สัตว์ตายตามวรรคก่อน ให้เจ้าของควบคุมซากสัตว์นั้นให้คงอยู่ ณ ที่ที่สัตว์นั้นตาย และห้ามมิให้เจ้าของหรือบุคคลอื่นใดเคลื่อนย้าย ชำแหละ หรือกระทำอย่างใดแก่ซากสัตว์นั้น ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ สารวัตร หรือสัตวแพทย์ไม่อาจมาตรวจซากสัตว์นั้นภายในเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่สัตว์นั้นตาย ให้เจ้าของฝังซากสัตว์นั้นใต้ระดับผิวดินไม่น้อยกว่าห้าสิบเซนติเมตร สำหรับซากสัตว์ใหญ่ให้พูนดินกลบหลุมเหนือระดับผิวดินไม่น้อยกว่าห้าสิบเซนติเมตรอีกด้วย
มาตรา ๙ เมื่อได้มีการแจ้งตามมาตรา ๘ หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีสัตว์ป่วยหรือตายโดยโรคระบาด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือสารวัตร มีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าของจัดการดังต่อไปนี้
(๑) ให้กักขัง แยก หรือย้ายสัตว์ป่วย หรือสงสัยว่าป่วยไว้ภายในเขต และตามวิธีการที่กำหนดให้
(๒) ให้ฝัง หรือเผาซากสัตว์นั้น ณ ที่ที่กำหนดให้ ถ้าการฝังหรือเผาไม่อาจทำได้ให้สั่งทำลายโดยวิธีอื่นตามที่เห็นสมควร หรือ
(๓) ให้กักขัง แยก หรือย้ายสัตว์ที่อยู่ร่วมฝูง หรือเคยอยู่ร่วมฝูงกับสัตว์ที่ป่วยหรือสงสัยว่าป่วยหรือตายไว้ภายในเขต และตามวิธีการที่กำหนดให้
มาตรา ๑๐ เมื่อได้มีการแจ้งมาตรา ๘ หรือตรวจพบ หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าสัตว์ป่วยหรือตายโดยโรคระบาด ให้สัตวแพทย์มีอำนาจเข้าตรวจสัตว์หรือซากสัตว์นั้น และให้มีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าของจัดการดังต่อไปนี้
(๑) ให้กักขัง แยก หรือย้ายสัตว์ป่วย หรือสงสัยว่าป่วยไว้ภายในเขต และตามวิธีการที่กำหนดให้ หรือให้ได้รับการรักษาตามที่เห็นสมควร
(๒) ให้ฝัง หรือเผาซากสัตว์นั้นทั้งหมด หรือแต่บางส่วน ณ ที่ที่กำหนดให้ ถ้าการฝังหรือเผาไม่อาจทำได้ ก็ให้ทำลายโดยวิธีอื่นตามที่เห็นสมควร
(๓) ให้กักขัง แยก หรือย้ายสัตว์ที่อยู่ร่วมฝูง หรือเคยอยู่ร่วมฝูงกับสัตว์ที่ป่วยหรือสงสัยว่าป่วย หรือตาย ไว้ภายในเขต และตามวิธีการที่กำหนดให้ หรือให้ได้รับการป้องกันโรคระบาดตามที่เห็นสมควร
(๔) ให้ทำลายสัตว์ที่เป็นโรคระบาด หรือสัตว์ หรือซากสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคระบาด ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ในการนี้ให้เจ้าของได้รับค่าชดใช้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของราคาสัตว์ซึ่งอาจขายได้ในตลาดท้องที่ก่อนเกิดโรคระบาด เว้นแต่ในกรณีที่เจ้าของได้จงใจกระทำความผิดต่อบทแห่งพระราชบัญญัตินี้
(๕) ให้กำจัดเชื้อโรคที่อาหารสัตว์ หรือซากสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคระบาด ตามวิธีการที่กำหนดให้ หรือ
(๖) ให้ทำความสะอาด และทำลายเชื้อโรคระบาด หรือพาหะของโรคระบาดในที่ดิน อาคาร ยานพาหนะ หรือสิ่งของ ตามวิธีการที่กำหนดให้
เขตปลอดโรคระบาด
มาตรา ๑๑ เมื่อรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อป้องกันมิให้เกิดโรคระบาดสำหรับสัตว์ชนิดใดในท้องที่ใด ก็ให้มีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดท้องที่นั้นทั้งหมด หรือแต่บางส่วน เป็นเขตปลอดโรคระบาด ประกาศนี้ให้ระบุชนิดของสัตว์และโรคระบาดไว้ด้วย
มาตรา ๑๒ เมื่อได้ประกาศเขตปลอดโรคระบาดตามมาตรา ๑๑ แล้ว ห้ามมิให้ผู้ใดเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์เข้าใน หรือผ่านเขตนั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีหรือสัตวแพทย์ซึ่งอธิบดีมอบหมาย
มาตรา ๑๓ ภายในเขตปลอดโรคระบาด ให้เจ้าของสัตว์มีหน้าที่ปฏิบัติการตามมาตรา ๘ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่และสารวัตรมีอำนาจตามมาตรา ๙ และให้สัตวแพทย์มีอำนาจตามมาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๘
มาตรา ๑๔ ภายในเขตปลอดโรคระบาด ถ้าปรากฏว่ามีโรคระบาดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีโรคระบาด ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือสัตวแพทย์ จะประกาศเขตโรคระบาด เขตสงสัยว่ามีโรคระบาดหรือเขตโรคระบาดชั่วคราว แล้วแต่กรณี ตามหมวด ๓ ก็ได้
เขตโรคระบาด
มาตรา ๑๕ ในเขตท้องที่จังหวัดใด มี หรือสงสัยว่ามีโรคระบาด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น มีอำนาจประกาศกำหนดเขตท้องที่จังหวัดนั้นทั้งหมด หรือแต่บางส่วน เป็นเขตโรคระบาด หรือเขตสงสัยว่ามีโรคระบาด แล้วแต่กรณี ประกาศนี้ให้ระบุชนิดของสัตว์และโรคระบาดไว้ด้วยและให้ปิดไว้ ณ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ บ้านกำนัน บ้านผู้ใหญ่บ้าน และที่ชุมนุมชนภายในเขตนั้น
มาตรา ๑๖ ในกรณีที่สัตวแพทย์เห็นว่า โรคระบาดที่ตรวจพบในท้องที่ของตน หรือท้องที่อื่น ที่ติดต่อกับท้องที่ของตนจะระบาดออกไป ให้สัตวแพทย์มีอำนาจประกาศเป็นหนังสือกำหนดเขตโรคระบาดชั่วคราว มีรัศมีไม่เกินห้ากิโลเมตรจากที่ที่ตรวจพบโรคระบาดนั้น ประกาศนี้ให้ระบุชนิดของสัตว์และโรคระบาดไว้ด้วย และให้ปิดไว้ ณ บ้านกำนัน บ้านผู้ใหญ่บ้าน และที่ชุมนุมชน ภายในเขตนั้น และให้ใช้บังคับได้สามสิบวันนับแต่วันประกาศ
มาตรา ๑๗ เมื่อได้มีประกาศกำหนดเขตโรคระบาด หรือเขตสงสัยว่ามีโรคระบาดตามมาตรา ๑๕ หรือประกาศกำหนดเขตโรคระบาดชั่วคราวตามมาตรา ๑๖ แล้ว ห้ามมิให้ผู้ใดเคลื่อนย้ายสัตว์ หรือซากสัตว์ภายในเขตนั้น หรือเคลื่อนย้ายสัตว์ หรือซากสัตว์ เข้าในหรือออกนอกเขตนั้น เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์
มาตรา ๑๘ ภายในเขตโรคระบาด หรือเขตสงสัยว่ามีโรคระบาดตามมาตรา ๑๕ หรือเขตโรคระบาดชั่วคราว ตามมาตรา ๑๖ ให้สัตวแพทย์มีอำนาจตามมาตรา ๑๐ และให้มีอำนาจดังต่อไปนี้อีกด้วย คือ
(๑) ออกประกาศ หรือสั่งเป็นหนังสือให้บรรดาเจ้าของแจ้งจำนวนสัตว์บางชนิดและถ้าเห็นสมควรจะให้นำสัตว์นั้นมาให้ได้รับการตรวจ หรือป้องกันโรคระบาด ก็ได้
(๒) สั่งให้เจ้าของสัตว์ที่ได้ผ่านการตรวจ หรือป้องกันโรคระบาดแล้วนำสัตว์นั้นมาประทับเครื่องหมายที่ตัวสัตว์ หรือ
(๓) สั่งกักยานพาหนะที่บรรทุกสัตว์หรือซากสัตว์เพื่อตรวจโรคระบาด และถ้าเห็นสมควรจะสั่งกักสัตว์หรือซากสัตว์นั้นเพื่อคุมไว้สังเกตตามความจำเป็น ก็ได้
มาตรา ๑๙ ภายในเขตโรคระบาด หรือเขตสงสัยว่ามีโรคระบาดตามมาตรา ๑๕ หรือเขตโรคระบาดชั่วคราว ตามมาตรา ๑๖ ถ้ามีสัตว์ป่วย หรือตาย ให้เจ้าของแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สารวัตร หรือสัตวแพทย์ภายในเวลาสิบสองชั่วโมงนับแต่เวลาที่สัตว์ป่วยหรือตาย และให้นำความในมาตรา ๘ วรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๒๐ ในเขตท้องที่จังหวัดใด ซึ่งได้ประกาศเป็นเขตโรคระบาด หรือเขตสงสัยว่ามีโรคระบาด ถ้าปรากฏว่าโรคระบาดนั้นได้สงบลงหรือปรากฏว่าไม่มีโรคระบาดโดยเด็ดขาด แล้วแต่กรณี ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดถอนประกาศเช่นว่านั้นเสีย
การควบคุมการค้าสัตว์และซากสัตว์
มาตรา ๒๑ ห้ามมิให้บุคคลใดทำการค้า ช้าง ม้า โค กระบือ แพะ แกะ สุกร หรือสัตว์ชนิดอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง หรือทำการค้าซากสัตว์ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน
มาตรา ๒๑ ทวิ ห้ามมิให้บุคคลใดขาย จำหน่าย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน หรือมีไว้เพื่อขายซึ่งน้ำเชื้อสำหรับผสมพันธุ์หรือเอ็มบริโอของ ม้า โค กระบือ แพะ แกะ สุกร หรือสัตว์ชนิดอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน
การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๒๒ ใบอนุญาตตามมาตรา ๒๑ หรือมาตรา ๒๑ ทวิ ให้ใช้ได้จนถึงวันสิ้นปีปฏิทินแห่งปีที่ออกใบอนุญาต
มาตรา ๒๓ ผู้ทำการค้าสัตว์หรือซากสัตว์ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต
มาตรา ๒๔ ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๒๑ หรือมาตรา ๒๑ ทวิฝ่าฝืนต่อบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต ให้สัตวแพทย์มีอำนาจยึดใบอนุญาตของผู้นั้นไว้เพื่อเสนอนายทะเบียน ถ้านายทะเบียนเห็นสมควรจะสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตนั้นเสียก็ได้
ผู้ถูกยึด พักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีหรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมายภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ถูกยึด พักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาต แล้วแต่กรณี
คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีหรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมายให้เป็นที่สุด
เบ็ดเตล็ด
มาตรา ๒๕ ถ้ามีสัตว์ที่ไม่ปรากฏเจ้าของ ป่วย หรือตายในที่ดินของบุคคลใด ให้เจ้าของที่ดินนั้นมีหน้าที่ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ เช่นเดียวกับเจ้าของสัตว์นั้น และเมื่อปรากฏเจ้าของสัตว์ในภายหลัง เจ้าของที่ดินมีสิทธิเรียกร้องค่าใช้จ่ายเท่าที่จ่ายจริงจากเจ้าของสัตว์ได้
มาตรา ๒๖ ถ้ามีสัตว์ที่ไม่ปรากฏเจ้าของ ป่วยหรือตายโดยโรคระบาดในที่สาธารณหรือที่ดินที่ไม่ปรากฏเจ้าของ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ สารวัตร หรือสัตวแพทย์มีอำนาจกักสัตว์หรือซากสัตว์นั้นไว้ ณ ที่ที่เห็นสมควรภายในบริเวณที่นั้นได้ สำหรับซากสัตว์นั้นเมื่อเห็นสมควรจะฝังเสียก็ได้ในกรณีจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้โรคระบาดแพร่หลาย สัตวแพทย์จะทำลายสัตว์หรือซากสัตว์ หรือฝังซากสัตว์นั้นภายในบริเวณที่นั้นก็ได้
เมื่อปรากฏเจ้าของในภายหลัง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ สารวัตร หรือสัตวแพทย์ มีสิทธิเรียกร้องค่าใช้จ่ายเท่าที่จ่ายจริงจากเจ้าของสัตว์ได้
มาตรา ๒๗ สำหรับสัตว์ที่เจ้าของนำไปมา หรือขนส่งโดยยานพาหนะ หากปรากฏว่าเป็นโรคระบาดหรือเป็นพาหะของโรคระบาด หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคระบาดหรือเป็นพาหะของโรคระบาด ให้สัตวแพทย์มีอำนาจสั่งกักสัตว์นั้นไว้ ณ ที่ที่เห็นสมควรตามความจำเป็นได้
ค่าใช้จ่ายในการนี้ให้เจ้าของสัตว์เป็นผู้ออก
มาตรา ๒๘ ห้ามมิให้บุคคลใดขุดซากสัตว์ที่ฝังไว้แล้วตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์
มาตรา ๒๙ เมื่อปรากฏว่ามีโรคระบาด หรือพาหะของโรคระบาด หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีโรคระบาด หรือพาหะของโรคระบาดในยานพาหนะ อาคาร หรือสถานที่อื่นใด ให้สัตวแพทย์มีอำนาจเรียกตรวจยานพาหนะ หรือเข้าไปในอาคาร หรือสถานที่นั้น และให้เจ้าของยานพาหนะ อาคาร หรือสถานที่นั้น ให้ความสะดวกแก่สัตวแพทย์ตามสมควร
การเข้าไปในอาคาร หรือสถานที่ตามวรรคก่อน ให้กระทำได้ระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก
มาตรา ๓๐ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา
(๑) กำหนดท่าเข้าและท่าออก
(๒) ห้ามการนำเข้า หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์ หรือซากสัตว์จากท้องที่ภายนอกราชอาณาจักร ในกรณีปรากฏว่า ท้องที่นั้นมี หรือสงสัยว่ามีโรคระบาด และ
(๓) วางระเบียบการยึด ทำลาย หรือส่งกลับซึ่งสัตว์ หรือซากสัตว์ โดยไม่มีค่าชดใช้ในกรณี
ก. นำเข้า หรือ นำผ่านราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อบทแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือ
ข. นำเข้า หรือนำผ่านราชอาณาจักรโดยถูกต้องตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ เมื่อสัตว์นั้นเป็นโรคระบาด หรือสัตว์ หรือซากสัตว์นั้นเป็นพาหะของโรคระบาดในขณะนั้น หรือภายหลังนำเข้า หรือนำผ่านราชอาณาจักร
มาตรา ๓๑ ห้ามมิให้บุคคลใดนำเข้า นำออก หรือนำผ่านราชอาณาจักร ซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี หรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย
อธิบดี หรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย จะกำหนดเงื่อนไขตามที่เห็นสมควรไว้ในใบอนุญาตก็ได้
การนำเข้า นำออก หรือนำผ่านราชอาณาจักร ซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ตามมาตรานี้ให้นำเข้า นำออก หรือนำผ่าน ท่าเข้า หรือท่าออก แล้วแต่กรณี เว้นแต่อธิบดี หรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย จะสั่งเป็นอย่างอื่น
มาตรา ๓๒ ผู้ใดนำเข้า นำออก หรือนำผ่านราชอาณาจักร ซึ่งสัตว์ หรือซากสัตว์ต้องปฏิบัติการตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๓๓ ให้อธิบดีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา
(๑) แต่งตั้งสารวัตรเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
(๒) กำหนดด่านกักสัตว์และสถานีขนส่งสัตว์
(๓) วางระเบียบการทำลายสัตว์ที่เป็นโรคระบาด หรือการทำลายสัตว์หรือซากสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคระบาด และ
(๔) วางระเบียบการตรวจโรคและทำลายเชื้อโรคจากสัตว์หรือซากสัตว์ที่มีการนำเข้า นำออก หรือนำผ่านราชอาณาจักร หรือเคลื่อนย้ายภายในราชอาณาจักร
มาตรา ๓๔ ผู้ใดนำ ช้าง ม้า โค กระบือ แพะ แกะ สุกร หรือน้ำเชื้อสำหรับผสมพันธุ์หรือเอ็มบริโอของสัตว์เหล่านี้ หรือสัตว์ชนิดอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงหรือซากสัตว์ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ไปยังท้องที่ต่างจังหวัด ต้องได้รับใบอนุญาตจากสัตวแพทย์ประจำท้องที่
ในการออกใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง สัตวแพทย์จะกำหนดเงื่อนไขตามที่จำเป็นไว้ในใบอนุญาตเกี่ยวกับการใช้เส้นทางและยานพาหนะในการนำสัตว์ไปและสถานีขนส่งสัตว์และการผ่านด่านกักสัตว์ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดก็ได้ เว้นแต่เป็นการนำสัตว์ไปเลี้ยงหรือใช้งานชั่วครั้งคราว
มาตรา ๓๕ ผู้ใดนำสัตว์ผ่านด่านกักสัตว์ ต้องปฏิบัติการตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๓๖ ผู้ใดส่งสัตว์ หรือ ซากสัตว์ไปจำหน่ายต่างประเทศ ต้องปฏิบัติการตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๓๗ ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บเฉพาะค่าที่พักสัตว์ หรือซากสัตว์ที่ส่งไปต่างประเทศ ให้กันไว้เป็นทุนเพื่อใช้จ่ายในการควบคุมการส่งสัตว์หรือซากสัตว์ไปจำหน่ายต่างประเทศ เป็นจำนวนร้อยละห้าสิบของเงินที่เก็บได้ทั้งสิ้น เหลือเท่าใดให้นำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน
มาตรา ๓๘ ให้สารวัตรมีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิดต่อบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจยึดสัตว์ ซากสัตว์ หรือสิ่งของใดๆ ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ไว้เพื่อส่งพนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไปตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา หรือเพื่อดำเนินการตามมาตรา ๕๑
บทกำหนดโทษ
มาตรา ๓๙ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท
มาตรา ๔๐ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๘ วรรคสองหรือฝ่าฝืนคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือสารวัตรตามมาตรา ๙ หรือฝ่าฝืนมาตรา ๑๙ หรือเจ้าของยานพาหนะ อาคารหรือสถานที่ ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกให้แก่สัตวแพทย์ตามสมควร ตามมาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองเดือน หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๔๑ ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งสัตวแพทย์ตามมาตรา ๑๐ หรือมาตรา ๑๘ หรือฝ่าฝืนมาตรา ๒๓ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๔๒ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๒ มาตรา ๑๗ มาตรา ๒๑ มาตรา ๒๑ ทวิ หรือมาตรา ๒๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๔๓ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๓
ในกรณีไม่ปฏิบัติการตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๙
ในกรณีไม่ปฏิบัติการตามมาตรา ๘ วรรคสอง หรือฝ่าฝืนคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือสารวัตรตามมาตรา ๙ ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๐
ในกรณีฝ่าฝืนคำสั่งสัตวแพทย์ตามมาตรา ๑๐ หรือมาตรา ๑๘ ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๑
มาตรา ๔๔ เจ้าของที่ดินผู้ใดไม่ปฏิบัติการตามหน้าที่ตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๒๕ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท
มาตรา ๔๕ (ยกเลิก)
มาตรา ๔๖ ผู้ใดฝ่าฝืนประกาศของรัฐมนตรีตามมาตรา ๓๐ (๒) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๔๗ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๑ วรรคหนึ่งหรือวรรคสาม หรือฝ่าฝืนเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตตามมาตรา ๓๑ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๔๘ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๕ หรือมาตรา ๓๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองเดือน หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๔๙ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๔ วรรคหนึ่ง หรือฝ่าฝืนเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตตามมาตรา ๓๔ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๕๐ ผู้ใดใช้เครื่องหมายปลอมหรือแปลงประทับที่ตัวสัตว์ เปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเครื่องหมายรอยประทับที่ตัวสัตว์ เพื่อให้เข้าใจว่าเป็นเครื่องหมายของเจ้าพนักงาน หรือทำลาย หรือแก้ไขเครื่องหมายใดๆ ที่เจ้าพนักงานทำไว้แก่ซากสัตว์ หรือภาชนะ หรือสิ่งห่อหุ้มซากสัตว์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๕๑ บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษปรับสถานเดียว ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจเปรียบเทียบได้ และเมื่อผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ให้คดีนั้นเป็นอันเลิกกัน
มาตรา ๕๒ ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งจ่ายเงินสินบนและรางวัลตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี


อัตราค่าธรรมเนียม

ลำดับ
รายการ
บาท
หมายเหตุ
ใบอนุญาตให้นำสัตว์เข้าในราชอาณาจักร
ช้าง เชือกละ
๒๕๐
ม้า โค กระบือ ลา ล่อ สุนัข
แมว ลิง ชะนี ตัวละ
๑๐๐
แพะ แกะ สุกร กระต่าย ตัวละ
๕๐
นกกระจอกเทศ นกอีมู ตัวละ
๒๐๐
ไก่ เป็น หาน และสัตว์ปีกชนิดอื่น ตัวละ
สัตว์ชนิดอื่น ตัวละ
๑๐๐
น้ำเชื้อสำหรับผสมพันธุ์ โด๊สละ
๑๐
เอ็มบริโอ ตัวละ
๑๐๐
ไข่นกกระจอกเทศ ไข่นกอีมู
สำหรับใช้ทำพันธุ์ ฟองละ
๕๐
ไข่สัตว์ปีกชนิดอื่นสำหรับใช้ทำพันธุ์ ฟองละ
๕๐
ใบอนุญาตให้นำสัตว์ออกนอกราชอาณาจักร
ช้าง เชือกละ
๕๐,๐๐๐
ม้า โค กระบือ ลา ล่อ สุนัข
แมว ลิง ชะนี ตัวละ
๕๐
แพะ แกะ สุกร ตัวละ
๒๕
กระต่าย ตัวละ
๑๐
สัตว์ชนิดอื่น ตัวละ
๕๐๐
ใบอนุญาตนำสัตว์ผ่านราชอาณาจักร
ช้าง เชือกละ
๒,๐๐๐
ม้า โค กระบือ ลา ล่อ ตัวละ
๑๐๐
แพะ แกะ สุกร สุนัข ลิง ชะนี ตัวละ
๕๐
แมว กระต่าย ตัวละ
๒๐
สัตว์ชนิดอื่น ตัวละ
๑๐๐
น้ำเชื้อสำหรับผสมพันธุ์ โด๊สละ
เอ็มบริโอ ตัวละ
๒๐
ไข่นกกระจอกเทศ ไข่นกอีมู
สำหรับใช้ทำพันธุ์ ฟองละ
๕๐
ไข่สัตว์ปีกชนิดอื่นสำหรับใช้ทำพันธุ์ ฟองละ
.๕๐
ใบอนุญาตให้นำซากสัตว์เข้าใน
ค่าธรรมเนียม
ราชอาณาจักร กิโลกรัมละ
๒๐
ลำดับที่ ๔ ที่ ๕ และ
ใบอนุญาตให้นำซากสัตว์เข้าใน
ที่ ๖ ถ้าเศษของ ๑
ราชอาณาจักร กิโลกรัมละ
กิโลกรัม ตั้งแต่ ๕๐๐
ใบอนุญาตให้นำซากสัตว์ผ่าน
กรัม ขึ้นไปคิดเป็น ๑
ราชอาณาจักร กิโลกรัมละ
กิโลกรัม ถ้าไม่ถึง
๕๐๐ กรัม ให้ปัดทิ้ง
ใบอนุญาตให้ทำการค้า ช้าง ม้า โค
กระบือ แพะ แกะ สุกร และสัตว์ชนิดอื่น
ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
(๑) ส่งต่างประเทศ ฉบับละ
๒,๐๐๐
(๒) ทั่วราชอาณาจักร ฉบับละ
๔๐๐
(๓) ภายในจังหวัด ฉบับละ
๑๐๐
ใบอนุญาตให้ขายน้ำเชื้อสำหรับ
ผสมพันธุ์ หรือเอ็มบริโอ
(๑) ส่งต่างประเทศ ฉบับละ
๘๐๐
(๒) ทั่วราชอาณาจักร ฉบับละ
๒๐๐
ใบอนุญาตให้ทำการค้าซากสัตว์
(๑) ส่งต่างประเทศ ฉบับละ
๔๐๐
(๒) ทั่วราชอาณาจักร ฉบับละ
๑๐๐
(๓) ภายในจังหวัด ฉบับละ
๒๐
๑๐
ใบแทนใบอนุญาตให้ทำการค้าสัตว์
ใบอนุญาตให้ขายน้ำเชื้อสำหรับ
ผสมพันธุ์หรือเอ็มบริโอ หรือ
ใบอนุญาตให้ทำการค้าซากสัตว์ ฉบับละ
๒๐
๑๑
ค่าทำลายเชื้อโรคผ่านด่านกักสัตว์ ตัวละ
๑๒
ค่าที่พักสัตว์ที่ส่งไปต่างประเทศ
โค กระบือ ตัวละ
๕๐
สุกร ตัวละ
๓๐
แพะ แกะ ตัวละ
๒๐
๑๓
ค่าที่พักซากสัตว์ที่ส่งไปต่างประเทศ
ถ้าเศษของ ๑
ซากโค กระบือ สุกร กิโลกรัมละ
กิโลกรัม ตั้งแต่ ๕๐๐
แพะ แกะ กิโลกรัมละ
กรัม ขึ้นไปคิดเป็น
๑ กิโลกรัม ถ้าไม่ถึง
๕๐๐ กรัม ให้ปัดทิ้ง

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติโรคระบาดปศุสัตว์ และสัตว์พาหนะเท่าที่ใช้อยู่ในเวลานี้มีหลายฉบับด้วยกัน ไม่สะดวกแก่การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และเป็นการยากแก่ราษฎรที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย จึงเห็นสมควรรวบรวมไว้ในฉบับเดียวกันให้เหมาะสมและสอดคล้องแก่เหตุการณ์และวิวัฒนาการของประเทศในปัจจุบันนี้
พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว ทำให้มีบทบัญญัติบางส่วนที่ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน สมควรที่จะปรับปรุงใหม่โดยกำหนดมาตรการในการควบคุมการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับเอ็มบริโอหรือตัวอ่อนของสัตว์ซึ่งเป็นพาหะให้เกิดโรคระบาดสัตว์อย่างหนึ่งได้ด้วย รวมทั้งสมควรปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของสัตวแพทย์ สารวัตร และอธิบดี ในการควบคุมโรคระบาดสัตว์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และปรับปรุงอัตราโทษให้สูงขึ้นเพื่อให้เกิดผลบังคับตามพระราชบัญญัตินี้ได้อย่างจริงจังและปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมเสียใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

รวมประกาศและ ข่าว สำนักงานสาธาณสุขอำเภอเพ็ญ ทั้งหมด

ตารางปฏิบัติงานสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเพ็ญ