ค่านิยมเพ็ญ Phen Team

****P-H-E-N ******* P = Professional = เป็นมืออาชีพ (เสียสละ สามัคคี มีวินัย) ****** H = Happiness = มีความสุข (เสมอภาค โปร่งใส เป็นธรรม) ******** E = Excellence เป็นต้นแบบ (บริหารยอด วิชาการเยี่ยม บริการเป็นเลิศ) ********* N = Network มีส่วนร่วม (ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ)*******






ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

***** เรื่อง รับขึ้นทะเบียน สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี ***** เป็นหน่วยบริการตามกฏหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ๑๐๔๕) พ.ศ.๒๕๖๕ ***** ประเภท หน่วยบริการที่รับส่งต่อเฉพาะด้านแพทย์แผนไทย ***** ตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๕ **** ประกาศ ณ วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๕ *******






ค้นหาข่าว โดย ใช้ข้อความ คำสำคัญ ที่เกี่ยวข้อง

วันเสาร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2553

พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2523

พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2523

พระราชบัญญัติ
โรคติดต่อ
พ.ศ. ๒๕๒๓
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๓
เป็นปีที่ ๓๕ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรรวบรวมและปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมโรคติดต่อเสียใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๒๓”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
(๑) พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พุทธศักราช ๒๔๗๗
(๒) พระราชบัญญัติโรคติดต่อ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๗๙
(๓) พระราชบัญญัติโรคติดต่อ (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๒
(๔) พระราชบัญญัติไข้จับสั่น พุทธศักราช ๒๔๘๕
(๕) พระราชบัญญัติโรคเรื้อน พุทธศักราช ๒๔๘๖
บรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
(๑) “โรคติดต่อ” หมายความว่า โรคซึ่งรัฐมนตรีประกาศตามมาตรา ๕ ให้เป็นโรคติดต่อ และให้หมายความรวมถึงโรคซึ่งรัฐมนตรีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศตามมาตรา ๖ วรรคสอง ให้เป็นโรคติดต่อด้วย
(๒) “โรคติดต่ออันตราย” หมายความว่า โรคติดต่อซึ่งรัฐมนตรีประกาศตามมาตรา ๕ ให้เป็นโรคติดต่ออันตราย
(๓) “โรคติดต่อต้องแจ้งความ” หมายความว่า โรคติดต่อซึ่งรัฐมนตรีประกาศตามมาตรา ๕ ให้เป็นโรคติดต่อต้องแจ้งความ และให้หมายความรวมถึงโรคติดต่อตามมาตรา ๕ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศตามมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง หรือโรคซึ่งรัฐมนตรีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศตามมาตรา ๖ วรรคสอง ให้เป็นโรคติดต่อต้องแจ้งความด้วย
(๔) “พาหะ” หมายความว่า คนหรือสัตว์ซึ่งไม่มีอาการของโรคติดต่อปรากฏ แต่ร่างกายมีเชื้อโรคนั้นซึ่งอาจติดต่อถึงผู้อื่นได้
(๕) “ผู้สัมผัสโรค” หมายความว่า คนซึ่งได้เข้าใกล้ชิดคน สัตว์ หรือสิ่งของติดโรค จนเชื้อโรคนั้นอาจติดต่อถึงผู้นั้นได้
(๖) “ระยะฟักตัวของโรค” หมายความว่า ระยะเวลาตั้งแต่เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายจนถึงเวลาที่ผู้ติดโรคแสดงอาการป่วยของโรคนั้น
(๗) “ระยะติดต่อของโรค” หมายความว่า ระยะเวลาที่เชื้อโรคสามารถจะแพร่จากคนหรือสัตว์ที่มีเชื้อโรคไปยังผู้อื่นได้ โดยทางตรงหรือทางอ้อม
(๘) “แยกกัก” หมายความว่า การแยกผู้สัมผัสโรคหรือพาหะ ออกไว้ต่างหากจากผู้อื่นในที่เอกเทศ และตามภาวะอันจะป้องกันมิให้เชื้อโรคแพร่หลายโดยทางตรงหรือทางอ้อม ไปยังผู้ซึ่งอาจได้รับเชื้อโรคนั้นๆ ได้ จนกว่าจะพ้นระยะติดต่อของโรค
(๙) “กักกัน” หมายความว่า การควบคุมผู้สัมผัสโรคหรือพาหะ ให้อยู่ในที่เอกเทศจนกว่าจะพ้นระยะฟักตัวของโรคนั้นๆ หรือจนกว่าจะพ้นความเป็นพาหะ
(๑๐) “คุมไว้สังเกต” หมายความว่า การควบคุมดูแลผู้สัมผัสโรคหรือพาหะ โดยไม่กักกัน และอาจจะอนุญาตให้ผ่านไปในที่ใดๆ ก็ได้ โดยมีเงื่อนไขว่าเมื่อไปถึงท้องที่ใดที่กำหนดไว้ ผู้นั้นต้องแสดงตัวต่อเจ้าพนักงานสาธารณสุขประจำท้องที่นั้น เพื่อรับการตรวจในทางแพทย์
(๑๑) “เขตติดโรค” หมายความว่า ท้องที่หนึ่งท้องที่ใด ในหรือนอกราชอาณาจักรที่มีโรคติดต่อเกิดขึ้น ตามที่รัฐมนตรีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศในท้องที่นั้นๆ เป็นเขตติดโรค
(๑๒) “พาหนะ” หมายความว่า ยาน สัตว์ หรือวัตถุ ซึ่งใช้ในการขนส่งคน สัตว์ หรือสิ่งของ ทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศ
(๑๓) “เจ้าของพาหนะ” หมายความรวมถึง ตัวแทน เจ้าของ ผู้เช่า ตัวแทนผู้เช่าหรือผู้ครอบครอง
(๑๔) “ผู้ควบคุมพาหนะ” หมายความว่า ผู้รับผิดชอบในการควบคุมพาหนะ
(๑๕) “ผู้เดินทาง” หมายความว่า คนซึ่งเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร รวมทั้งผู้ควบคุมพาหนะและคนประจำพาหนะ
(๑๖) “การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค” หมายความว่า การกระทำทางการแพทย์โดยวิธีใดๆ ก็ตาม ต่อคนหรือสัตว์เพื่อให้คนหรือสัตว์นั้นเกิดอำนาจต้านทานโรค
(๑๗) “ที่เอกเทศ” หมายความว่า ที่ใดๆ ซึ่งเจ้าพนักงานสาธารณสุขกำหนดให้เป็นที่สำหรับแยกกัก หรือกักกันคนหรือสัตว์ที่ป่วย หรือมีเหตุสงสัยว่าป่วยด้วยโรคติดต่อใดๆ เพื่อป้องกันและควบคุมมิให้โรคนั้นแพร่หลาย
(๑๘) “เจ้าพนักงานสาธารณสุข” หมายความว่า เจ้าพนักงานซึ่งได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่ตรวจตรา ดูแล และรับผิดชอบในการสาธารณสุขโดยทั่วไป หรือเฉพาะในท้องที่ใดท้องที่หนึ่ง
(๑๙) “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
(๒๐) “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๕ โรคใดจะเป็นโรคติดต่อ โรคติดต่ออันตราย หรือโรคติดต่อต้องแจ้งความ ให้รัฐมนตรีประกาศชื่อและอาการสำคัญของโรคไว้ในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๖ ในกรณีจำเป็นและสมควรให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจประกาศกำหนดให้โรคติดต่อซึ่งรัฐมนตรีประกาศตามมาตรา ๕ เป็นโรคติดต่อต้องแจ้งความเฉพาะในเขตของตน
ในกรณีที่ตรวจพบหรือมีเหตุสงสัยว่าโรคใดโรคหนึ่งอันมิใช่โรคติดต่อที่ได้มีประกาศตามมาตรา ๕ เป็นโรคซึ่งอาจติดต่อแพร่หลายเป็นอันตรายแก่ประชาชนได้ ให้รัฐมนตรีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดเฉพาะในเขตของตน มีอำนาจประกาศระบุชื่อและอาการสำคัญของโรคนั้นให้เป็นโรคติดต่อหรือโรคติดต่อต้องแจ้งความ
มาตรา ๗ ในกรณีที่มีโรคติดต่ออันตราย หรือโรคติดต่อต้องแจ้งความเกิดขึ้นหรือมีเหตุสงสัยว่าได้มีโรคติดต่อดังกล่าวเกิดขึ้น ให้บุคคลดังต่อไปนี้แจ้งต่อเจ้าพนักงานสาธารณสุขหรือพนักงานเจ้าหน้าที่
(๑) ในกรณีมีการป่วยหรือมีเหตุสงสัยว่าได้มีการป่วยโดยโรคติดต่อดังกล่าวเกิดขึ้นในบ้าน ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าบ้าน หรือของผู้ควบคุมดูแลบ้าน หรือของแพทย์ผู้ทำการรักษาพยาบาล
(๒) ในกรณีมีการป่วยหรือมีเหตุสงสัยว่าได้มีการป่วยด้วยโรคติดต่อดังกล่าวเกิดขึ้นในสถานพยาบาล ให้เป็นหน้าที่ของผู้รับผิดชอบในสถานพยาบาลนั้น
(๓) ในกรณีที่ได้มีการชันสูตรทางแพทย์ตรวจพบว่าอาจมีเชื้ออันเป็นเหตุของโรคติดต่อดังกล่าว ให้เป็นหน้าที่ของผู้ทำการชันสูตรทางแพทย์ หรือของผู้รับผิดชอบในสถานที่ที่ได้มีการชันสูตรทางแพทย์นั้น
หลักเกณฑ์ และวิธีการแจ้งตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๘ เมื่อปรากฏแก่เจ้าพนักงานสาธารณสุขว่าได้เกิด หรือมีเหตุสงสัยว่าได้เกิดโรคติดต่ออันตรายอย่างใดเกิดขึ้นในบ้าน โรงเรือน สถานที่ หรือพาหนะใด ให้เจ้าพนักงานสาธารณสุขมีอำนาจที่จะดำเนินการเอง ประกาศหรือออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ใดดำเนินการดังต่อไปนี้ได้
(๑) ให้คนหรือสัตว์ซึ่งป่วยหรือมีเหตุสงสัยว่าป่วยเป็นโรคติดต่ออันตราย เป็นผู้สัมผัสโรค หรือเป็นพาหะของโรคติดต่ออันตราย มารับการตรวจ การชันสูตรทางแพทย์ หรือการรักษา หรือคุมไว้สังเกต ณ สถานที่ซึ่งเจ้าพนักงานสาธารณสุขกำหนด
ในกรณีที่เจ้าพนักงานสาธารณสุขเห็นว่า คนซึ่งป่วยหรือมีเหตุสงสัยว่าป่วยเป็นโรคอยู่ในภาวะซึ่งอาจเป็นเหตุให้เชื้อโรคแพร่หลายจนเป็นอันตรายร้ายแรงแก่ประชาชนได้ ให้มีอำนาจแยกกักผู้นั้นไปรับการรักษาในสถานพยาบาลหรือในที่เอกเทศ จนกว่าจะได้รับการตรวจและการชันสูตรทางแพทย์ว่าพ้นระยะติดต่อของโรคหรือหมดเหตุสงสัย
(๒) กักกันหรือคุมไว้สังเกตซึ่งคนหรือสัตว์ซึ่งเป็นหรือมีเหตุสงสัยว่าเป็นผู้สัมผัสโรคหรือพาหะ
(๓) ให้คนหรือสัตว์รับการป้องกัน ตามวัน เวลา และสถานที่ซึ่งเจ้าพนักงานสาธารณสุขกำหนด
(๔) ดำเนินการหรือให้เจ้าของหรือผู้อยู่ในบ้าน โรงเรือน สถานที่ หรือพาหนะใดที่โรคติดต่ออันตรายได้เกิดขึ้นจัดการกำจัดความติดโรคหรือทำลายสิ่งใดๆ หรือสัตว์ที่มีเหตุเชื่อได้ว่าเป็นสิ่งติดโรค จนกว่าเจ้าพนักงานสาธารณสุขจะเห็นว่าปราศจากความติดโรคและได้ถอนคำสั่งนั้นแล้ว
(๕) ดำเนินการหรือให้เจ้าของหรือผู้อยู่ในบ้าน โรงเรือน สถานที่ หรือพาหนะใดที่โรคติดต่ออันตรายได้เกิดขึ้น จัดการ แก้ไข ปรับปรุงการสุขาภิบาล หรือรื้อถอนสิ่งที่ไม่ถูกสุขลักษณะหรือจัดให้มีขึ้นใหม่ให้ถูกสุขลักษณะ
(๖) ให้นำศพหรือซากสัตว์ซึ่งปรากฏหรือมีเหตุสงสัยว่าตายด้วยโรคติดต่ออันตรายไปรับการตรวจ หรือจัดการทางแพทย์ หรือจัดการแก่ศพหรือซากสัตว์นั้นด้วยประการอื่นใด เพื่อป้องกันการแพร่หลายของโรค
(๗) ดำเนินการหรือกำหนดให้ปฏิบัติการเพื่อป้องกัน กำจัด สัตว์หรือแมลง หรือตัวอ่อนของแมลงที่เป็นเหตุให้เกิดโรค
(๘) ดำเนินการหรือกำหนดให้ปฏิบัติในการ ทำ ประกอบ ปรุง จับต้อง บรรจุ เก็บ สะสม จำหน่ายอาหาร น้ำแข็ง เครื่องดื่มหรือน้ำเพื่อป้องกันการแพร่หลายของโรค
(๙) จัดหาและให้เครื่องอุปโภคบริโภค รวมทั้งเวชภัณฑ์หรือเคมีภัณฑ์ เพื่อป้องกันการแพร่หลายของโรค
(๑๐) จัดหาน้ำที่ถูกสุขลักษณะไว้ในบ้าน โรงเรือน สถานที่ หรือพาหนะ
(๑๑) ห้ามกระทำการใดๆ อันน่าจะเป็นเหตุให้เกิดภาวะไม่ถูกสุขลักษณะแก่ถนนหนทาง บ้าน โรงเรือน สถานที่ พาหนะ หรือที่สาธารณะอื่นใด
(๑๒) ห้ามกระทำการใดๆ อันอาจจะเป็นเหตุให้โรคแพร่หลาย
มาตรา ๙ ในกรณีที่เจ้าพนักงานสาธารณสุขได้ออกคำสั่งประกาศตามมาตรา ๘ ให้ปิดประกาศนั้นไว้ในที่เปิดเผยเห็นได้ง่าย ณ สถานที่แยกกัก สถานที่กักกัน บ้าน โรงเรือนสถานที่หรือพาหนะที่ผู้ป่วยอาศัยหรือพักอยู่ และหรือบริเวณที่ใกล้เคียง ตลอดเวลาที่คำสั่งตามประกาศนั้นยังคงใช้บังคับอยู่ ห้ามผู้ใดนอกจากเจ้าพนักงานสาธารณสุขเข้าไปในหรือออกจากสถานที่แยกกัก สถานที่กักกัน บ้าน โรงเรือน สถานที่หรือพาหนะ ที่ผู้ป่วยอาศัยหรือพักอยู่ หรือย้ายสิ่งของใดๆ ออกจากที่นั้น เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานสาธารณสุข
มาตรา ๑๐ เมื่อมีโรคติดต่ออันตรายเกิดขึ้นหรือน่าจะเกิดขึ้นในท้องที่ใด
รัฐมนตรีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดเฉพาะในเขตของตน มีอำนาจประกาศโดยระบุชื่อและอาการสำคัญของโรค ตำบล หมู่บ้านหรือสถานที่ใดเป็นเขตติดโรค และจะกำหนดปริมณฑลโดยรอบไว้เป็นเขตติดโรคด้วยก็ได้
เมื่อได้มีประกาศดังกล่าวแล้ว ให้เจ้าพนักงานสาธารณสุขมีอำนาจดำเนินการเอง ประกาศหรือออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ใดดำเนินการใดๆ ในเขตหรือในบริเวณปริมณฑลนั้น ดังต่อไปนี้
(๑) ปฏิบัติการใดๆ ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๘
(๒) ห้ามผู้ใดเข้าไปในหรือออกจากเขตติดโรค หรือที่เอกเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานสาธารณสุข
(๓) เข้าไปในบ้าน โรงเรือน สถานที่ หรือพาหนะใด ที่เกิดหรือมีเหตุสงสัยว่าเกิดโรคได้ โดยมิต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าแต่ต้องกระทำในภาวะอันสมควร
(๔) รื้อถอน ทำลาย หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามความจำเป็น ซึ่งบ้าน โรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง สถานที่ พาหนะ หรือสิ่งของใดๆ เพื่อป้องกันการแพร่หลายของโรค
(๕) ปิดตลาด โรงมหรสพ สถานศึกษา สถานที่ประกอบหรือจำหน่ายอาหารสถานที่ผลิตหรือจำหน่ายเครื่องดื่ม โรงงาน สถานที่ชุมนุมชน หรือสถานที่อื่นใดไว้ชั่วคราวตามที่เห็นสมควรเพื่อป้องกันการแพร่หลายของโรค
(๖) ห้ามคนซึ่งป่วยหรือมีเหตุสงสัยว่าป่วยเป็นโรคติดต่ออันตราย ประกอบอาชีพใดๆ หรือเข้าไปในสถานศึกษา สถานที่ชุมนุมชน หรือสถานที่อื่นใด เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานสาธารณสุข
เมื่อโรคติดต่ออันตรายที่เกิดขึ้นสงบลงแล้ว และรัฐมนตรีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นเป็นการสมควรก็ให้ถอนประกาศนั้น
มาตรา ๑๑ เมื่อโรคติดต่อต้องแจ้งความเกิดขึ้นในบ้าน โรงเรือน สถานที่พาหนะ หรือท้องที่ใด ถ้าเจ้าพนักงานสาธารณสุขเห็นว่าโรคติดต่อดังกล่าวจะระบาดต่อไป ให้มีอำนาจปฏิบัติการใดๆ ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๘ และมาตรา ๑๐ ได้ โดยอนุโลม
มาตรา ๑๒ เพื่อป้องกันมิให้โรคติดต่อใดเกิดหรือแพร่หลาย ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้บุคคลต้องได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค
เมื่อได้มีประกาศตามวรรคหนึ่งแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจประกาศกำหนดให้บุคคลใดได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ณ เวลาและสถานที่ซึ่งจะได้กำหนดไว้ในประกาศนั้น
มาตรา ๑๓ ในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศให้ช่องทางและด่านตรวจคนเข้าเมืองตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองเป็นด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ เมื่อมีเหตุอันสมควรให้เจ้าพนักงานสาธารณสุขประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศมีอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) ให้เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะแจ้งกำหนดวัน เวลา และสถานที่ที่พาหนะนั้นๆ จะเข้ามาถึงท่าอากาศยาน ท่าเรือ หรือท่าขนส่งทางบก ต่อเจ้าพนักงานสาธารณสุขประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
(๒) ให้เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะที่เข้ามาในราชอาณาจักรยื่นเอกสารต่อเจ้าพนักงานสาธารณสุขประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
(๓) ห้ามผู้ใดนำพาหนะอื่นใดเข้าเทียบพาหนะที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยังไม่ได้รับการตรวจจากเจ้าพนักงานสาธารณสุข และห้ามผู้ใดเข้าไปในหรือออกจากพาหนะนั้น เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานสาธารณสุขประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ
(๔) เข้าไปในพาหนะและตรวจผู้เดินทาง สิ่งของหรือสัตว์ที่มากับพาหนะ ตรวจตราและควบคุมให้เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะแก้ไขการสุขาภิบาลของพาหนะให้ถูกสุขลักษณะ รวมทั้งกำจัดสิ่งอันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพในพาหนะ ในการนี้ให้เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะอำนวยความสะดวกแก่เจ้าพนักงานสาธารณสุขประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ
(๕) ห้ามเจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะนำผู้เดินทางซึ่งไม่ได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคตามที่รัฐมนตรีประกาศเข้ามาในราชอาณาจักร
(๖) ตรวจตรา ควบคุม ให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบท่าอากาศยาน ท่าเรือหรือท่าขนส่งทางบก แก้ไขการสุขาภิบาลให้ถูกสุขลักษณะ รวมทั้งกำจัดสิ่งอันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพในสถานที่และบริเวณดังกล่าว
(๗) ตรวจตรา ควบคุม ให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบท่าอากาศยาน ท่าเรือ หรือท่าขนส่งทางบก ทำการควบคุม กำจัดยุง และพาหะนำโรค ในสถานที่และบริเวณรอบท่าอากาศยาน ท่าเรือหรือ ท่าขนส่งทางบก ในรัศมีสี่ร้อยเมตร ในการนี้ ให้เจ้าของหรือผู้อยู่ในบ้าน โรงเรือน หรือสถานที่ในบริเวณดังกล่าวอำนวยความสะดวกในการควบคุมกำจัดยุงและพาหะนำโรค
(๘) ตรวจตรา ควบคุมการสุขาภิบาลเกี่ยวกับอาหาร น้ำแข็ง เครื่องดื่มหรือน้ำให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบสถานที่ ทำ ประกอบ ปรุง จับต้อง บรรจุ เก็บ สะสม จำหน่ายอาหาร น้ำแข็งเครื่องดื่ม หรือน้ำที่นำเข้าไป หรือจะนำเข้าไปในบริเวณท่าอากาศยาน ท่าเรือ หรือท่าขนส่งทางบกให้ถูกสุขลักษณะ หรือแก้ไขการสุขาภิบาลเกี่ยวกับอาหาร น้ำแข็ง เครื่องดื่มหรือน้ำ ตลอดถึงสถานที่ดังกล่าวให้ถูกสุขลักษณะ
มาตรา ๑๔ เมื่อมีโรคติดต่ออันตรายเกิดขึ้นในท้องที่หรือเมืองท่าใดในต่างประเทศ ให้รัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีมอบหมายมีอำนาจประกาศให้ท้องที่หรือเมืองท่านั้นเป็นเขตติดโรค เมื่อได้ประกาศแล้วให้เจ้าพนักงานสาธารณสุขประจำด่านควบคุม โรคติดต่อระหว่างประเทศมีอำนาจดำเนินการเอง หรือออกคำสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะที่เข้ามาในราชอาณาจักรจากท้องที่หรือเมืองท่านั้น ดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑) ดำเนินการหรือกำหนดให้ปฏิบัติการใดๆ เพื่อกำจัดความติดโรค และเพื่อป้องกันการแพร่หลายของโรค
(๒) จัดให้พาหนะจอดอยู่ ณ สถานที่ที่กำหนดให้จนกว่าเจ้าพนักงานสาธารณสุขจะอนุญาตให้ไปได้
(๓) ให้ผู้เดินทางซึ่งมากับพาหนะนั้นรับการตรวจในทางแพทย์ และอาจให้แยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกต หรือรับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ณ สถานที่ที่กำหนดให้
(๔) ห้ามผู้ใดเข้าไปในหรือออกจากพาหนะนั้น หรือที่เอกเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานสาธารณสุข
(๕) ห้ามผู้ใดนำเครื่องอุปโภคบริโภค น้ำดื่ม หรือ น้ำใช้ซึ่งเป็นหรือมีเหตุสงสัยว่าเป็นสิ่งติดโรคเข้าไปในหรือออกจากพาหนะนั้น เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานสาธารณสุข
มาตรา ๑๕ ให้เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการขนส่งผู้เดินทางซึ่งมากับพาหนะนั้น เพื่อแยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกต หรือรับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ตลอดทั้งค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู การรักษาพยาบาล การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ
มาตรา ๑๖ ในกรณีที่เจ้าพนักงานสาธารณสุขได้ออกคำสั่งให้ผู้ใดดำเนินการตามมาตรา ๘ (๔) (๕) (๖) หรือ (๗) มาตรา ๑๐ (๔) มาตรา ๑๓ (๔) (๖) (๗) หรือ (๘) หรือมาตรา ๑๔ (๑) (๒) หรือ (๓) แล้ว ผู้นั้นละเลยไม่ดำเนินการตามคำสั่งภายในเวลาที่กำหนดเจ้าพนักงานสาธารณสุขมีอำนาจดำเนินการแทนได้ โดยให้ผู้นั้นชดใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการนั้นตามจำนวนที่จ่ายจริง ทั้งนี้ ตามระเบียบที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
มาตรา ๑๗ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗ หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานสาธารณสุขตามมาตรา ๘ (๑) (๒) (๓) (๗) (๘) (๙) (๑๐) (๑๑) หรือ (๑๒) มาตรา ๑๓ มาตรา ๑๔ (๕) หรือไม่ให้ความสะดวกแก่เจ้าพนักงานสาธารณสุขตามมาตรา ๑๓ (๔) หรือ (๗) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท
มาตรา ๑๘ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานสาธารณสุข ตามมาตรา ๘ (๔) (๕) หรือ (๖) มาตรา ๙ มาตรา ๑๐ หรือมาตรา ๑๔ (๓) หรือ (๔) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๙ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัดตามมาตรา ๑๒ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท
มาตรา ๒๐ เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานสาธารณสุขตามมาตรา ๑๔ (๒) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๒๑ ให้บรรดากฎกระทรวง ประกาศ และคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พุทธศักราช ๒๔๗๗ พระราชบัญญัติโรคติดต่อ (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๒ พระราชบัญญัติไข้จับสั่น พุทธศักราช ๒๔๘๕ และพระราชบัญญัติโรคเรื้อน พุทธศักราช ๒๔๘๖ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษายังคงใช้บังคับต่อไปได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะมีกฎกระทรวง ประกาศ และคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา ๒๒ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ กับให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ออกกฎกระทรวงและกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ป. ติณสูลานนท์
นายกรัฐมนตรี


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พุทธศักราช ๒๔๗๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติโรคติดต่อ (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๒ พระราชบัญญัติไข้จับสั่น พุทธศักราช ๒๔๘๕ และพระราชบัญญัติโรคเรื้อน พุทธศักราช ๒๔๘๖ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนี้ มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการควบคุมและป้องกันโรคติดต่อยังไม่รัดกุมและเหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน สมควรที่จะได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเสียใหม่โดยรวมเป็นพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

รวมประกาศและ ข่าว สำนักงานสาธาณสุขอำเภอเพ็ญ ทั้งหมด

ตารางปฏิบัติงานสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเพ็ญ