ค่านิยมเพ็ญ Phen Team

****P-H-E-N ******* P = Professional = เป็นมืออาชีพ (เสียสละ สามัคคี มีวินัย) ****** H = Happiness = มีความสุข (เสมอภาค โปร่งใส เป็นธรรม) ******** E = Excellence เป็นต้นแบบ (บริหารยอด วิชาการเยี่ยม บริการเป็นเลิศ) ********* N = Network มีส่วนร่วม (ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ)*******






ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

***** เรื่อง รับขึ้นทะเบียน สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี ***** เป็นหน่วยบริการตามกฏหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ๑๐๔๕) พ.ศ.๒๕๖๕ ***** ประเภท หน่วยบริการที่รับส่งต่อเฉพาะด้านแพทย์แผนไทย ***** ตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๕ **** ประกาศ ณ วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๕ *******






ค้นหาข่าว โดย ใช้ข้อความ คำสำคัญ ที่เกี่ยวข้อง

วันเสาร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2553

พรบ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ.2550

พรบ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ.2550

พระราชบัญญัติ
ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ
พ.ศ. ๒๕๕๐
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
เป็นปีที่ ๖๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๒๑
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“เด็ก” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์
“เยาวชน” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุตั้งแต่สิบแปดปีบริบูรณ์ถึงยี่สิบห้าปีบริบูรณ์
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ
“คณะบริหาร” หมายความว่า คณะบริหารสภาเด็กและเยาวชนอำเภอ คณะบริหารสภาเด็กและเยาวชนจังหวัด คณะบริหารสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร และคณะบริหารสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็กเยาวชน ผู้ด้อยโอกาสคนพิการ และผู้สูงอายุ
“ผู้อำนวยการ” หมายความว่า ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็กเยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงและระเบียบเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงและระเบียบนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
หมวด ๑
บททั่วไป
มาตรา ๖ ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีหน้าที่ในการพัฒนาเด็กและเยาวชน รวมทั้งแก้ไขปัญหาที่อาจมีผลกระทบในทางลบต่อเด็กและเยาวชน โดยมีหลักการดังต่อไปนี้
(๑) การพัฒนาเด็กและเยาวชน การบังคับใช้และการปฏิบัติตามบทบัญญัติใดๆ แห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กและเยาวชนเป็นอันดับแรก
(๒) เด็กและเยาวชนทุกคนมีสิทธิในการได้รับการศึกษา และได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพสูงสุดตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
(๓) เด็กพิการ เด็กที่มีข้อจำกัดทางการเรียนรู้ และเด็กที่มีความสามารถพิเศษ มีสิทธิในการได้รับการศึกษาที่รัฐจัดให้เป็นพิเศษที่เหมาะสมกับลักษณะเด็กประเภทนั้นๆ
(๔) เด็กและเยาวชนมีสิทธิในการรับบริการทางการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานสูงสุดเท่าที่มีการให้บริการทางด้านนี้
(๕) เด็กและเยาวชนมีสิทธิในการเล่น มีเวลาพักผ่อน และเข้าร่วมกิจกรรมการละเล่นทางนันทนาการที่เหมาะสมตามวัยของเด็กและเยาวชน และการมีส่วนร่วมอย่างเสรีในทางวัฒนธรรมและศิลปะ
การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำโดยมีแนวทาง ดังต่อไปนี้
(๑) ให้เด็กและเยาวชนมีความผูกพันต่อครอบครัว ภาคภูมิใจในความเป็นไทย มีวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตย สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปลอดภัย และรู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่น รวมทั้งกฎเกณฑ์และกติกาในสังคม
(๒) ให้มีสุขภาพและพลานามัยแข็งแรง รู้จักการป้องกันตนเองจากโรคและสิ่งเสพติด
(๓) ให้มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ตามสมควรแก่วัย จริยธรรม และคุณธรรม
(๔) ให้มีทักษะและเจตคติที่ดีต่อการทำงาน มีศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจในการทำงานสุจริต
(๕) ให้รู้จักคิดอย่างมีเหตุผลและมุ่งมั่นพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
(๖) ให้รู้จักช่วยเหลือผู้อื่นโดยมีจิตสำนึกในการให้และการอาสาสมัคร รวมทั้งมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและประเทศชาติ
(๗) ให้มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อผู้อื่น และต่อส่วนรวมตามสมควรแก่วัย
มาตรา ๗ ให้เด็กและเยาวชนทุกคนมีสิทธิได้รับการจดทะเบียนรับรองการเกิด การพัฒนาการยอมรับ การคุ้มครองและโอกาสในการมีส่วนร่วมตามที่บัญญัติในพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างเท่าเทียม โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคลฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรม การศึกษาอบรม ความคิดเห็นทางการเมือง การเกิดหรือสถานะอื่นของเด็กและเยาวชน บิดามารดา หรือผู้ปกครอง
มาตรา ๘ ให้สำนักงานหรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดร่วมมือ ส่งเสริม และประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในระดับท้องถิ่นให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติและให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ
ในการจัดทำแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงหลักการและแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนและประชาสังคมในท้องถิ่นด้วย
มาตรา ๙ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเด็กและเยาวชน ให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือ ส่งเสริม และสนับสนุนการดำเนินงานของสภาเด็กและเยาวชนอำเภอ สภาเด็กและเยาวชนจังหวัด สภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร และสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย
หมวด ๒
คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ
มาตรา ๑๐ ให้มีคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติประกอบด้วย
(๑) นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ
(๒) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นรองประธานกรรมการ คนที่หนึ่ง
(๓) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นรองประธานกรรมการ คนที่สอง
(๔) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทยปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงศึกษาธิการปลัดกระทรวงสาธารณสุข และประธานสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชน
(๕) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ และบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งต้องเป็นผู้ปฏิบัติงานในภาคเอกชน จำนวนไม่เกินห้าคน
(๖) ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเลือกกันเอง จำนวนหนึ่งคน
(๗) ผู้แทนเด็กและเยาวชนซึ่งได้รับเลือกจากสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยจำนวนสองคนเป็นชายหนึ่งคนและหญิงหนึ่งคน
ให้ผู้อำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้ผู้อำนวยการแต่งตั้งข้าราชการของสำนักงานจำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด
มาตรา ๑๑ คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) เสนอนโยบายและแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ โดยต้องคำนึงถึงพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่ด้วย
(๒) เสนอแนวทางปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนต่อคณะรัฐมนตรี
(๓) กำหนดระเบียบและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนแก่หน่วยงานของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การช่วยเหลือทางวิชาการการวิจัยและพัฒนา เงินอุดหนุน สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการต่างๆ อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
(๔) ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการจัดสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ด้านเด็กและเยาวชน ทบทวนกลไกและกระบวนการทำงานและพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ และทัศนคติในการพัฒนาเด็กและเยาวชนของประเทศ
(๕) จัดการประเมินผลการดำเนินงาน และเสนอรายงานการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนของประเทศต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาอย่างน้อยปีละครั้ง
(๖) ปฏิบัติการอื่นตามที่กฎหมายกำหนดหรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย
มาตรา ๑๒ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
(๑) มีสัญชาติไทย
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบปีบริบูรณ์
(๓) เป็นผู้ปฏิบัติงานในภาคเอกชนที่มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนเป็นที่ประจักษ์
(๔) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๕) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
(๖) ไม่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
(๗) ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือเลิกจ้างจากหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนเพราะทุจริตต่อหน้าที่
(๘) ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกิจการที่กระทำกับสำนักงาน
มาตรา ๑๓ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปีนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่ต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน
ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ แต่ยังมิได้แต่งตั้งกรรมการใหม่ให้กรรมการนั้นปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่าจะได้แต่งตั้งกรรมการใหม่
มาตรา ๑๔ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) นายกรัฐมนตรีให้ออกเพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ
(๔) ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๒
มาตรา ๑๕ ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน
มาตรา ๑๖ ให้นำความในมาตรา ๑๓ มาตรา ๑๔ (๑) และ (๒) และมาตรา ๑๕ มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งของกรรมการตามมาตรา ๑๐ (๖) และ (๗) โดยอนุโลม
มาตรา ๑๗ การประชุมของคณะกรรมการ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม
ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ให้รองประธานกรรมการคนที่หนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม ถ้ารองประธานกรรมการคนที่หนึ่งไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการคนที่สองเป็นประธานในที่ประชุม ถ้ารองประธานกรรมการทั้งสองคนไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ให้กรรมการซึ่งมาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งขึ้นทำหน้าที่แทน
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
ให้มีการประชุมคณะกรรมการอย่างน้อยปีละสี่ครั้ง
มาตรา ๑๘ คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งที่ปรึกษาคณะบริหารสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย คณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
ให้นำความในมาตรา ๑๗ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะอนุกรรมการและคณะทำงานโดยอนุโลม
มาตรา ๑๙ ให้สำนักงานมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน และรับผิดชอบงานธุรการและวิชาการของคณะกรรมการ รวมทั้งให้มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) จัดทำนโยบายและแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติเสนอต่อคณะกรรมการ
(๒) กำหนดแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในด้านต่างๆ ให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ และกำหนดแนวทางปฏิบัติตามนโยบายและแผนดังกล่าวตลอดจนการประสานงาน ติดตาม และประเมินผล ทั้งในส่วนของรัฐและเอกชนให้มีการปฏิบัติงานตามนโยบายเด็กและเยาวชนแห่งชาติ
(๓) พัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านเด็กและเยาวชน ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุน และร่วมมือกับเอกชนในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรดังกล่าว
(๔) ศึกษาวิจัยหรือสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน
(๕) สำรวจ ศึกษา รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ ติดตาม และประเมินผลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของเด็กและเยาวชนตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และความตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี ตลอดจนกฎหมายภายในประเทศ เพื่อจัดทำระบบฐานข้อมูล และรวบรวมข้อคิดเห็นของเด็กและเยาวชน รวมทั้งจัดทำรายงานเพื่อเป็นแนวนโยบายในการพัฒนาเด็กและเยาวชนต่อไป
(๖) สนับสนุนและประสานงานกับหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อร่วมมือกันพัฒนาเด็กและเยาวชน รวมทั้งส่งเสริมการดำเนินกิจการสภาเด็กและเยาวชนในทุกระดับ
(๗) ส่งเสริมสื่อมวลชน และสถานศึกษาในการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างจิตสำนึกในการให้และการอาสาสมัครให้แก่เด็กและเยาวชน
(๘) เป็นศูนย์กลางในการประสานงาน เผยแพร่ และประชาสัมพันธ์งานและกิจการเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน
(๙) ศึกษา วิเคราะห์ และวางแผนการงบประมาณและค่าใช้จ่าย เพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน โดยร่วมกับหน่วยงานอื่น รวมทั้งพิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรเอกชนหรือองค์กรชุมชนตามมาตรา ๔๒
(๑๐) ดำเนินการจัดงานสมัชชาเด็กและเยาวชนแห่งชาติร่วมกับสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนในด้านต่างๆ
(๑๑) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนด ตามมติคณะกรรมการ หรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย
มาตรา ๒๐ ให้สำนักงานจัดทำรายงานการพัฒนาเด็กและเยาวชนเสนอคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละครั้ง โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
(๑) การใช้งบประมาณเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน
(๒) ผลการดำเนินงานของสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย
(๓) สภาพการณ์และแนวโน้มของปัญหาเด็กและเยาวชน
(๔) ผลการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการพัฒนาเด็กและเยาวชน ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคจากการดำเนินงาน
(๕) แนวทางในการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาเด็กและเยาวชน
มาตรา ๒๑ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการหรือสำนักงาน อาจเชิญบุคคลใดมาให้ข้อเท็จจริง คำอธิบาย คำแนะนำหรือความเห็นทางวิชาการได้เมื่อเห็นสมควร และอาจขอความร่วมมือจากบุคคลใดเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงหรือเพื่อสำรวจกิจการใดที่อาจมีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนได้
หมวด ๓
มาตรการส่งเสริมการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน
ส่วนที่ ๑
สภาเด็กและเยาวชน
มาตรา ๒๒ ให้สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดจัดให้มีสภาเด็กและเยาวชนอำเภอขึ้น โดยมีสมาชิกประกอบด้วยเด็กและเยาวชนที่อยู่ในเขตอำเภอนั้น
ให้มีคณะบริหารสภาเด็กและเยาวชนอำเภอ ประกอบด้วยประธานสภาคนหนึ่งและผู้บริหารอีกไม่เกินสิบห้าคน ซึ่งคัดเลือกกันเองจากผู้แทนนักเรียนหรือนักศึกษาจากสถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติที่อยู่ในเขตอำเภอ ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นขึ้นไป และผู้แทนเด็กและเยาวชน ซึ่งไม่ได้อยู่ในสังกัดสถานศึกษา
ให้คณะบริหารสภาเด็กและเยาวชนอำเภอปรึกษาหารือร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางในการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนในเขตอำเภอ และดำเนินการอื่นที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนอำเภอ
ให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ดูแลอำเภอนั้น ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้แทนองค์กรเอกชนหรือองค์กรชุมชนที่มีกิจกรรมหรือผลงานเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน เป็นที่ปรึกษาคณะบริหารสภาเด็กและเยาวชนอำเภอ
ในวาระเริ่มแรก ให้ดำเนินการจัดให้มีสภาเด็กและเยาวชนอำเภอให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา ๒๓ การประชุมและการดำเนินงานของคณะบริหารสภาเด็กและเยาวชนอำเภอให้เป็นไปตามข้อบังคับที่คณะบริหารสภาเด็กและเยาวชนอำเภอกำหนด ทั้งนี้ ต้องจัดให้มีการประชุมสามัญอย่างน้อยปีละครั้ง
มาตรา ๒๔ สภาเด็กและเยาวชนอำเภอมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) ส่งเสริม สนับสนุน และเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านวิชาการและกิจกรรมเกี่ยวกับการศึกษา กีฬา และวัฒนธรรมในท้องถิ่นของเด็กและเยาวชน
(๒) จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนในท้องถิ่นให้มีความรู้ความสามารถ และจริยธรรม
(๓) เสนอแนะและให้ความเห็นต่อสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนในท้องถิ่น
มาตรา ๒๕ ให้มีสภาเด็กและเยาวชนจังหวัด ซึ่งสมาชิกประกอบด้วย ผู้แทนจากคณะบริหารสภาเด็กและเยาวชนอำเภอ จำนวนไม่เกินห้าคนจากแต่ละสภาเด็กและเยาวชนอำเภอในจังหวัด
ในวาระเริ่มแรก ให้ดำเนินการจัดให้มีสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา ๒๖ ให้มีคณะบริหารสภาเด็กและเยาวชนจังหวัด ประกอบด้วย ประธานสภาคนหนึ่งและผู้บริหารอีกไม่เกินยี่สิบคน ซึ่งคัดเลือกกันเองจากสมาชิกสภาเด็กและเยาวชนจังหวัด มีหน้าที่บริหารงานทั่วไปของสภา และดำเนินกิจกรรมเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนในเขตจังหวัด รวมทั้งดำเนินการอื่นที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนจังหวัด
ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และผู้แทนองค์กรเอกชนหรือองค์กรชุมชนที่มีกิจกรรมหรือผลงานเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจำนวนไม่เกินห้าคน เป็นที่ปรึกษาคณะบริหารสภาเด็กและเยาวชนจังหวัด
มาตรา ๒๗ การประชุมและการดำเนินงานของสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดและคณะบริหารสภาเด็กและเยาวชนจังหวัด ให้เป็นไปตามข้อบังคับที่สภาเด็กและเยาวชนจังหวัดกำหนด ทั้งนี้ ต้องจัดให้มีการประชุมสามัญอย่างน้อยปีละครั้ง
มาตรา ๒๘ ให้มีสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร ซึ่งสมาชิกประกอบด้วย
(๑) ผู้แทนนักเรียนหรือนักศึกษาจากสถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ดังต่อไปนี้
(ก) ผู้แทนนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา ซึ่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาคัดเลือกจำนวนไม่เกินยี่สิบคน
(ข) ผู้แทนนักเรียนหรือนักศึกษาในระดับอาชีวศึกษา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาคัดเลือกจำนวนไม่เกินยี่สิบคน
(ค) ผู้แทนนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาคัดเลือกจำนวนไม่เกินยี่สิบคน
(๒) ผู้แทนเด็กและเยาวชนซึ่งไม่ได้อยู่ในสังกัดสถานศึกษา ซึ่งสำนักงานคัดเลือกจากเด็กและเยาวชนที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนไม่เกินสี่สิบคน
ในวาระเริ่มแรก ให้ดำเนินการจัดให้มีสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานครให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา ๒๙ ให้มีคณะบริหารสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยประธานสภาคนหนึ่ง และผู้บริหารอีกไม่เกินยี่สิบคน ซึ่งคัดเลือกกันเองจากสมาชิกสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร มีหน้าที่บริหารงานทั่วไปของสภา และดำเนินกิจกรรมเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนในเขตกรุงเทพมหานคร รวมทั้งดำเนินการอื่นที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร
ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้แทนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานคร ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ผู้แทนสำนักงาน และผู้แทนองค์กรเอกชนหรือองค์กรชุมชนที่มีกิจกรรมหรือผลงานเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแต่งตั้งจำนวนไม่เกินห้าคนเป็นที่ปรึกษาคณะบริหารสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร
มาตรา ๓๐ การประชุมและการดำเนินงานของสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร และคณะบริหารสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร ให้เป็นไปตามข้อบังคับที่สภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานครกำหนด ทั้งนี้ ต้องจัดให้มีการประชุมสามัญอย่างน้อยปีละครั้ง
มาตรา ๓๑ สภาเด็กและเยาวชนจังหวัด และสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) ประสานงานระหว่างสภาเด็กและเยาวชนอำเภอ และแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในด้านต่างๆ ของเด็กและเยาวชนในเขตจังหวัดหรือเขตกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี
(๒) เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และเผยแพร่ด้านวิชาการ การศึกษา กีฬา และวัฒนธรรม
(๓) ส่งเสริมและสนับสนุนให้สภาเด็กและเยาวชนอำเภอ และสถานศึกษาในเขตจังหวัดหรือเขตกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี ได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ อันเป็นประโยชน์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชน
(๔) ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการประชุมและการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่
มาตรา ๓๒ ให้มีสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ซึ่งสมาชิกประกอบด้วย
(๑) ประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดทุกจังหวัด
(๒) ประธานสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร
(๓) ผู้แทนเด็กและเยาวชน ซึ่งมาจากการคัดเลือกกันเองจากกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ได้ลงทะเบียนไว้ตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด โดยคำนึงถึงความหลากหลายของกลุ่มเด็กและเยาวชนจำนวนสามสิบแปดคน
ในวาระเริ่มแรก ให้ดำเนินการจัดให้มีสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยให้แล้วเสร็จภายในสองร้อยเจ็ดสิบวัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา ๓๓ ให้สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นศูนย์กลางประสานงานเพื่อดำเนินกิจกรรมการพัฒนาเด็กและเยาวชนในจังหวัดต่างๆ
(๒) ให้ความร่วมมือในการดำเนินงานของรัฐและองค์กรเอกชนหรือองค์กรชุมชนในการพัฒนาเด็กและเยาวชน
(๓) ให้ความเห็นในการกำหนดนโยบาย แผนงาน และงบประมาณของหน่วยงานของรัฐเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน
(๔) เสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับกิจกรรมการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่อาจมีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน
(๕) เสนอคณะกรรมการเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐและองค์กรเอกชนหรือองค์กรชุมชน
(๖) ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการประชุมและการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่
สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยต้องจัดให้มีการประชุมสามัญอย่างน้อยปีละครั้ง
มาตรา ๓๔ ให้มีคณะบริหารสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ประกอบด้วยประธานสภาคนหนึ่ง และผู้บริหารอีกไม่เกินยี่สิบห้าคน ซึ่งคัดเลือกกันเองจากสมาชิกสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย มีหน้าที่บริหารงานทั่วไปของสภา และเสนอแผนงานหรือแนวทางปฏิบัติในการพัฒนาเด็กและเยาวชนในด้านต่างๆ ต่อสำนักงานเพื่อประโยชน์ในการจัดทำแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ รวมทั้งเป็นผู้แทน หรือพิจารณาคัดเลือกผู้แทนเด็กและเยาวชนของประเทศในการดำเนินกิจกรรมเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ตลอดจนดำเนินการอื่นที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย
มาตรา ๓๕ การประชุมและการดำเนินงานของสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยและคณะบริหารสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ให้เป็นไปตามข้อบังคับที่สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยกำหนด
มาตรา ๓๖ คณะบริหารอย่างน้อยต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
(๑) มีอายุไม่เกินยี่สิบห้าปีบริบูรณ์
(๒) ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งในทางการเมือง กรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งที่รับผิดชอบในการบริหารพรรคการเมือง ที่ปรึกษาพรรคการเมือง เจ้าหน้าที่พรรคการเมือง สมาชิกพรรคการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น
มาตรา ๓๗ คณะบริหารมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปีนับแต่วันที่ได้รับคัดเลือกประธานสภาหรือผู้บริหารซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้แต่ต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน
ในกรณีที่คณะบริหารพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้ดำเนินการคัดเลือกใหม่ภายในหกสิบวันในระหว่างที่ยังมิได้มีการคัดเลือกคณะบริหารขึ้นใหม่ ให้คณะบริหารนั้นปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่าจะได้มีการคัดเลือกคณะบริหารใหม่
มาตรา ๓๘ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ประธานสภาและผู้บริหารในคณะบริหารพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๓๖
มาตรา ๓๙ ในกรณีที่ประธานสภาหรือผู้บริหารในคณะบริหารพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระให้มีการคัดเลือกบุคคลอื่นแทนตำแหน่งที่ว่าง เว้นแต่วาระของคณะบริหารจะเหลือไม่ถึงเก้าสิบวัน และให้ผู้ได้รับคัดเลือกแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของประธานสภาหรือผู้บริหารซึ่งตนแทน
มาตรา ๔๐ ให้สำนักงานดำเนินการส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานการจัดตั้งและการดำเนินกิจการของสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย และสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร
ในจังหวัดอื่นให้สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดดำเนินการส่งเสริมสนับสนุน และประสานงานการจัดตั้งและดำเนินกิจการของสภาเด็กและเยาวชนอำเภอและสภาเด็กและเยาวชนจังหวัด
ส่วนที่ ๒
การส่งเสริมบทบาทขององค์กรเอกชนหรือองค์กรชุมชนในการพัฒนาเด็กและเยาวชน
มาตรา ๔๑ เพื่อเป็นการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชน ให้องค์กรเอกชนหรือองค์กรชุมชนที่มีกิจกรรมหรือผลงานเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน และมิได้มีวัตถุประสงค์ในทางการเมืองหรือมุ่งค้าหากำไรจากการประกอบกิจกรรมดังกล่าวมีสิทธิขอจดทะเบียนเป็นองค์กรเอกชนหรือองค์กรชุมชนด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนต่อกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๔๒ องค์กรเอกชนหรือองค์กรชุมชนที่ได้จดทะเบียนตามมาตรา ๔๑ อาจได้รับเงินอุดหนุนความช่วยเหลือ หรือการสนับสนุนจากรัฐ ในการดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) การจัดให้มีอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองและพัฒนาเด็กและเยาวชน
(๒) การประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข้อมูลหรือข่าวสารเพื่อสร้างจิตสำนึกของสาธารณชนที่ถูกต้องเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน
(๓) การจัดตั้งหรือดำเนินโครงการหรือกิจกรรมเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน
(๔) การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน
(๕) การให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนในด้านอื่นๆ แก่เด็กและเยาวชนที่ถูกละเมิดสิทธิ เช่น การให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย การแพทย์ การบำบัดฟื้นฟู การสงเคราะห์เด็กและเยาวชน
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้เงินอุดหนุน ความช่วยเหลือ หรือการสนับสนุนจากรัฐตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด
มาตรา ๔๓ ให้องค์กรเอกชนหรือองค์กรชุมชนที่ได้รับความช่วยเหลือหรือสนับสนุนจากรัฐตามมาตรา ๔๒ มีหน้าที่จัดทำรายงานผลการดำเนินงานเสนอต่อสำนักงานตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด
มาตรา ๔๔ องค์กรเอกชนหรือองค์กรชุมชนใดที่ได้จดทะเบียนแล้วดำเนินกิจการที่อาจก่อความวุ่นวายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่ดำเนินการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เหมาะสม หรือไม่มีผลงานตามมาตรฐานที่รัฐมนตรีกำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนหรือระงับการให้เงินอุดหนุน ความช่วยเหลือหรือการสนับสนุนที่ให้แก่องค์กรเอกชนหรือองค์กรชุมชนนั้นได้
บทเฉพาะกาล
มาตรา ๔๕ ในระหว่างที่ยังมิได้แต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติตามพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๒๑ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ทำหน้าที่คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติตามพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าคณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ทั้งนี้ ไม่เกินสามร้อยวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
นายกรัฐมนตรี


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๒๑ ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน สมควรกำหนดแนวทางและปรับปรุงวิธีการในการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบันโดยกำหนดให้มีการจัดตั้งศูนย์เด็กและเยาวชนอำเภอ และสภาเด็กและเยาวชน เพื่อให้การส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งให้องค์กรเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

รวมประกาศและ ข่าว สำนักงานสาธาณสุขอำเภอเพ็ญ ทั้งหมด

ตารางปฏิบัติงานสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเพ็ญ