พระราชบัญญัติ
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
พ.ศ. ๒๕๓๙
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๙
เป็นปีที่ ๕๑ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๓๙”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เว้นแต่บทบัญญัติแห่งหมวด ๓ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
“ข้าราชการ” หมายความว่า ข้าราชการพลเรือนตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน ข้าราชการฝ่ายตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ ข้าราชการฝ่ายอัยการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ข้าราชการครูตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครู ข้าราชการรัฐสภาสามัญตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภา ข้าราชการตำรวจตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการตำรวจ ข้าราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการทหาร ข้าราชการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญตามกฎหมายว่าด้วยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และข้าราชการซึ่งมีกฎหมายบัญญัติให้เป็นข้าราชการตามพระราชบัญญัตินี้
“ข้าราชการส่วนท้องถิ่น” หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน หรือผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งเรียกชื่ออย่างอื่นขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้น
“พนักงานมหาวิทยาลัย” หมายความว่า พนักงาน บุคลากร หรือผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งเรียกชื่ออย่างอื่นของมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษานั้น ๆ แต่ไม่หมายความรวมถึงลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราว
“องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” หมายความว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้น
“กองทุน” หมายความว่า กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
“สมาชิก” หมายความว่า สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
“เงินเดือน” หมายความว่า เงินเดือนที่ได้รับตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการนั้น ๆ รวมทั้งเงินเพิ่มพิเศษรายเดือนสำหรับค่าวิชา สำหรับประจำตำแหน่งที่ต้องฝ่าอันตรายเป็นปกติ สำหรับการสู้รบ หรือสำหรับการปราบปรามผู้กระทำความผิดแต่ไม่รวมถึงเงินเพิ่มอย่างอื่น
“เงินสะสม” หมายความว่า เงินที่สมาชิกสะสมเข้ากองทุนตามพระราชบัญญัตินี้
“เงินสมทบ” หมายความว่า เงินที่รัฐบาลจ่ายสมทบเงินสะสมตามพระราชบัญญัตินี้
“เงินประเดิม” หมายความว่า เงินที่รัฐบาลนำส่งเข้ากองทุนเพื่อจ่ายเพิ่มให้แก่สมาชิกซึ่งเป็นข้าราชการอยู่ก่อนวันที่บทบัญญัติแห่งหมวด ๓ ใช้บังคับและเลือกรับบำนาญ
“เงินชดเชย” หมายความว่า เงินที่รัฐบาลนำส่งเข้ากองทุนเพื่อจ่ายเพิ่มให้แก่สมาชิกซึ่งรับบำนาญ
“บำนาญ” หมายความว่า เงินที่จ่ายให้แก่สมาชิกเป็นรายเดือนเมื่อสมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลง
“บำเหน็จ” หมายความว่า เงินที่จ่ายให้แก่สมาชิก โดยจ่ายให้ครั้งเดียวเมื่อสมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลง
“บำเหน็จดำรงชีพ” หมายความว่า เงินที่จ่ายให้แก่ผู้รับบำนาญเพื่อช่วยเหลือการดำรงชีพโดยจ่ายให้ครั้งเดียว
“บำเหน็จตกทอด” หมายความว่า เงินที่จ่ายให้แก่ทายาทโดยจ่ายให้ครั้งเดียวในกรณีที่สมาชิกหรือผู้รับบำนาญถึงแก่ความตาย
“เวลาราชการ” หมายความว่า เวลาตั้งแต่วันที่สมาชิกเริ่มรับราชการจนถึงวันสุดท้ายที่ได้รับเงินเดือนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ และให้หมายความรวมถึงการนับเวลาราชการเป็นทวีคูณตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการด้วย
“นิติบุคคล” หมายความว่า นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
“กรรมการ” หมายความว่า กรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
“พนักงาน” หมายความว่า พนักงานของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
“ลูกจ้าง” หมายความว่า ลูกจ้างของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ กับออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
หมวด ๑
การจัดตั้งกองทุน และลักษณะของกิจการกองทุน
มาตรา ๕ ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งเรียกว่า “กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ” เรียกโดยย่อว่า “กบข.”
ให้กองทุนเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
(๑) เพื่อเป็นหลักประกันการจ่ายบำเหน็จบำนาญและให้ประโยชน์ตอบแทนการรับราชการแก่ข้าราชการเมื่อออกจากราชการ
(๒) เพื่อส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิก
(๓) เพื่อจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นให้แก่สมาชิก
มาตรา ๖ กองทุนประกอบด้วยทรัพย์สินดังต่อไปนี้
(๑) เงินสะสม เงินสมทบ เงินประเดิม และเงินชดเชย
(๒) เงินที่ได้รับจัดสรรตามมาตรา ๗๒
(๓) ทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้
(๔) เงินที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามความจำเป็นเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของกองทุน
(๕) รายได้อื่น
(๖) ดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน
มาตรา ๗ กิจการของกองทุนไม่อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม
มาตรา ๘ ให้กองทุนมีสำนักงานใหญ่ ณ สถานที่ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาและจะตั้งสาขาหรือตัวแทนขึ้น ณ ที่อื่นใด ตามความจำเป็นก็ได้
มาตรา ๙ ให้กองทุนมีอำนาจกระทำกิจการต่าง ๆ ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๕ และอำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง
(๑) ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง และมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ
(๒) ก่อตั้งสิทธิหรือกระทำนิติกรรมใด ๆ ทั้งในและนอกราชอาณาจักร
(๓) ให้สมาชิกกู้ยืมเงิน
(๔) ลงทุนหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของกองทุน
(๔/๑) จัดตั้งบริษัทจำกัด เพื่อให้บริการแก่กองทุนหรือนิติบุคคลที่กองทุนเป็นหุ้นส่วนหรือถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละเจ็ดสิบห้าของหุ้นทั้งหมดของนิติบุคคลนั้น
(๕) กระทำการอย่างอื่นบรรดาที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องในการจัดให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของกองทุน
มาตรา ๑๐ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกองทุน ให้จ่ายจากเงินของกองทุนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๑๑ กองทุนไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และรายได้ของกองทุนไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน
หมวด ๒
การควบคุมและการบริหาร
มาตรา ๑๒ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ” ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง อธิบดีกรมบัญชีกลาง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ผู้แทนสมาชิกซึ่งเป็นข้าราชการตามมาตรา ๓ ประเภทละหนึ่งคนซึ่งได้รับเลือกตามมาตรา ๑๓ และผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสามคนซึ่งได้รับเลือกตามมาตรา ๑๔ เป็นกรรมการ
ให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ
คณะกรรมการอาจแต่งตั้งพนักงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการได้ไม่เกินสองคน
มาตรา ๑๓ การเลือกกรรมการผู้แทนสมาชิกตามมาตรา ๑๒ วรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
มาตรา ๑๔ ให้ประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้แทนสมาชิกประชุมร่วมกัน เพื่อเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
มาตรา ๑๕ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
(๑) ไม่เป็นบุคคลซึ่งทางราชการหรือรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐอื่นไล่ออก ปลดออก ให้ออก หรือเลิกจ้างเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่าทุจริตต่อหน้าที่
(๒) ไม่เป็นข้าราชการการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือกรรมการหรือที่ปรึกษาหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง
มาตรา ๑๖ ให้กรรมการผู้แทนสมาชิกมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันมิได้
มาตรา ๑๗ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี แต่จะเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเกินสองวาระติดต่อกันมิได้
มาตรา ๑๘ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการผู้แทนสมาชิก หรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๔) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๕) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๖) พ้นจากการเป็นสมาชิกหรือพ้นจากการเป็นข้าราชการประเภทที่ตนได้รับเลือกเป็นผู้แทนในกรณีกรรมการผู้แทนสมาชิก
(๗) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๕ ในกรณีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
มาตรา ๑๙ ในกรณีที่กรรมการผู้แทนสมาชิกหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้ดำเนินการเลือกกรรมการขึ้นใหม่ภายในหกสิบวันในระหว่างที่ยังมิได้มีการเลือกกรรมการขึ้นใหม่ ให้กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไป จนกว่ากรรมการที่ได้รับเลือกใหม่เข้ารับหน้าที่
มาตรา ๒๐ ในกรณีที่กรรมการผู้แทนสมาชิกผู้ใดพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระให้ผู้ซึ่งได้คะแนนถัดไปซึ่งขึ้นบัญชีไว้ในการเลือกผู้แทนสมาชิกของข้าราชการประเภทนั้นเป็นกรรมการแทน ในกรณีที่ไม่มีผู้ขึ้นบัญชีไว้ ให้ดำเนินการเลือกกรรมการผู้แทนสมาชิกประเภทนั้นขึ้นใหม่ตามวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้ดำเนินการเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นแทนตามมาตรา ๑๔
ให้กรรมการผู้ได้รับการแต่งตั้งหรือเลือกให้ดำรงตำแหน่งแทนตามวรรคหนึ่งและวรรคสองอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน
ในกรณีที่วาระการดำรงตำแหน่งเหลืออยู่ไม่ถึงสามสิบวัน จะไม่แต่งตั้งหรือเลือกกรรมการขึ้นดำรงตำแหน่งแทนก็ได้
มาตรา ๒๑ ให้ประธานกรรมการและกรรมการตามมาตรา ๑๒ วรรคหนึ่ง แต่งตั้งเลขาธิการจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
(๑) มีสัญชาติไทย
(๒) มีอายุไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์
(๓) สามารถปฏิบัติงานให้แก่กองทุนได้เต็มเวลา
(๔) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
(๕) ไม่เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย
(๖) ไม่เป็นข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของกระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
(๗) ไม่เป็นข้าราชการการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือกรรมการหรือที่ปรึกษา หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง
(๘) ไม่เป็นกรรมการผู้จัดการหรือผู้จัดการหรือดำรงตำแหน่งอื่นใดที่มีลักษณะงานคล้ายคลึงกันนั้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท
(๙) ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญากับกองทุน หรือในกิจการที่กระทำให้แก่กองทุน ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม เว้นแต่เป็นผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายให้เป็นกรรมการในบริษัทที่กองทุนเป็นผู้ถือหุ้น
มาตรา ๒๒ การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และการกำหนดเงื่อนไขในการทดลองปฏิบัติงานหรือการทำงานในหน้าที่เลขาธิการ ให้เป็นไปตามสัญญาจ้างที่คณะกรรมการกำหนด โดยให้มีอายุการจ้างคราวละไม่เกินสี่ปี และเมื่อครบกำหนดอายุสัญญาจ้างแล้วคณะกรรมการจะต่ออายุสัญญาจ้างอีกก็ได้
การทำสัญญาจ้างเลขาธิการ ให้ประธานกรรมการเป็นผู้มีอำนาจทำสัญญาในนามของกองทุน
ให้เลขาธิการได้รับเงินค่าจ้าง ค่าตอบแทนและเงินอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๒๓ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามอายุการจ้าง เลขาธิการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๑
(๔) คณะกรรมการมีมติเห็นสมควรให้เลิกจ้าง
มาตรา ๒๔ ให้เลขาธิการเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้าง และรับผิดชอบในการบริหารกิจการของกองทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนและตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และนโยบายที่คณะกรรมการกำหนด
เลขาธิการต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการในการบริหารกิจการของกองทุน
มาตรา ๒๕ ในกิจการของกองทุนที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกให้เลขาธิการเป็นผู้แทนของกองทุน การปฏิบัติงานของเลขาธิการและการมอบอำนาจให้ผู้อื่นปฏิบัติงานแทนเลขาธิการให้เป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด
นิติกรรมที่กระทำโดยฝ่าฝืนข้อบังคับตามวรรคหนึ่ง ย่อมไม่ผูกพันกองทุนเว้นแต่คณะกรรมการจะให้สัตยาบัน
มาตรา ๒๖ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดนโยบาย และออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ และคำสั่งในการบริหารกิจการของกองทุน
(๒) กำหนดนโยบายการลงทุนของกองทุน ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง
(๓) กำกับดูแลการจัดการกองทุน
(๔) ออกข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติงานของเลขาธิการ และการมอบอำนาจให้ผู้อื่นปฏิบัติงานแทนเลขาธิการ
(๕) กำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของสำนักงาน และค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวกับกิจการของกองทุน
(๖) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการรับ เก็บรักษา และจ่ายเงินของกองทุน
(๗) ออกระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล การบรรจุ แต่งตั้ง ถอดถอน และวินัยของพนักงานและลูกจ้าง ตลอดจนการกำหนดเงินเดือนและเงินอื่นรวมถึงการสงเคราะห์และสวัสดิการ
(๘) พิจารณามอบหมายให้สถาบันการเงินหรือนิติบุคคลอื่นจัดการเงินของกองทุน
(๙) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อปฏิบัติการตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
(๑๐) แต่งตั้งผู้แทนเข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนน ในการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทหรือหน่วยงานอื่นใดที่กองทุนถือหุ้นอยู่
(๑๑) ปฏิบัติงานอื่นใดเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๒๗ การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ในการประชุมของคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมากกรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
การออกเสียงลงมติแต่งตั้งหรือเลิกจ้างเลขาธิการต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดที่อยู่ในตำแหน่ง
มาตรา ๒๘ กรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสียในเรื่องที่พิจารณา ห้ามมิให้เข้าร่วมพิจารณาในเรื่องนั้น
มาตรา ๒๙ ให้กรรมการและอนุกรรมการได้รับประโยชน์ตอบแทนตามที่รัฐมนตรีกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
มาตรา ๓๐ ให้มีคณะอนุกรรมการจัดการลงทุน ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นประธานอนุกรรมการ ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสี่คนซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้ง เป็นอนุกรรมการ และเลขาธิการเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
มาตรา ๓๑ ให้คณะอนุกรรมการจัดการลงทุนมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) ให้คำแนะนำปรึกษาด้านการลงทุนต่อคณะกรรมการ
(๒) ให้คำแนะนำปรึกษาด้านการกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกสถาบันการเงินหรือนิติบุคคลที่จะมอบหมายให้จัดการเงินของกองทุน
(๓) ติดตามดูแลการดำเนินงานของสถาบันการเงินหรือนิติบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้จัดการเงินของกองทุน
(๔) รายงานผลการดำเนินการด้านการลงทุนและเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการ
(๕) ปฏิบัติการในเรื่องอื่นใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
มาตรา ๓๒ ให้มีคณะอนุกรรมการสมาชิกสัมพันธ์ ประกอบด้วยเลขาธิการ ก.พ. เป็นประธานอนุกรรมการ ผู้แทนกรมบัญชีกลาง ผู้แทนกรมประชาสัมพันธ์ และผู้แทนสมาชิกจำนวนห้าคนเป็นอนุกรรมการ และให้เลขาธิการเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
การเลือกผู้แทนสมาชิกตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๓๓ ให้คณะอนุกรรมการสมาชิกสัมพันธ์มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นสื่อกลางระหว่างกองทุนกับสมาชิก ตลอดจนเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่สมาชิก
(๒) เผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร และรายงานความคืบหน้าของการจัดการกองทุน
(๓) รับฟังความคิดเห็นและปัญหาต่าง ๆ จากสมาชิก
(๔) พิจารณาเสนอแนะต่อคณะกรรมการเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นให้แก่สมาชิก
(๕) ปฏิบัติการในเรื่องอื่นใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
มาตรา ๓๔ ให้นำมาตรา ๑๗ มาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ มาตรา ๒๐ มาตรา ๒๗ และมาตรา ๒๘ มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และการประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม
หมวด ๓
สมาชิกและสิทธิประโยชน์ของสมาชิก
มาตรา ๓๕ ให้บุคคลต่อไปนี้ เป็นสมาชิก
(๑) ผู้ซึ่งเข้ารับราชการตั้งแต่วันที่บทบัญญัติแห่งหมวดนี้ใช้บังคับ
(๒) ผู้ซึ่งโอนมาเป็นข้าราชการตามพระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันที่บทบัญญัติแห่งหมวดนี้ใช้บังคับ
มาตรา ๓๖ บุคคลต่อไปนี้จะสมัครเป็นสมาชิกก็ได้
(๑) ข้าราชการซึ่งรับราชการอยู่ในวันก่อนวันที่บทบัญญัติแห่งหมวดนี้ใช้บังคับ
(๒) ข้าราชการซึ่งออกจากราชการเพื่อไปปฏิบัติงานตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์การสั่งให้ข้าราชการไปทำการซึ่งให้นับเวลาระหว่างนั้นเหมือนเต็มเวลาราชการก่อนวันที่บทบัญญัติแห่งหมวดนี้ใช้บังคับและกลับเข้ารับราชการตั้งแต่วันที่บทบัญญัติแห่งหมวดนี้ใช้บังคับ
การสมัครเป็นสมาชิกให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๓๗ บำเหน็จบำนาญ บำเหน็จดำรงชีพ และบำเหน็จตกทอด ให้จ่ายจากเงินงบประมาณ สำหรับเงินสะสม เงินสมทบ เงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนเงินดังกล่าวให้จ่ายจากกองทุน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๓๘ ข้าราชการซึ่งออกจากราชการ ถ้ากลับเข้ารับราชการใหม่ตั้งแต่วันที่บทบัญญัติแห่งหมวดนี้ใช้บังคับ ให้นับเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญตอนก่อนออกจากราชการต่อเนื่องกับการรับราชการในตอนหลังได้ เว้นแต่ข้าราชการผู้นั้นถูกปลดออก หรือไล่ออกจากราชการเนื่องจากกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงและไม่มีสิทธิได้รับเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญจากการรับราชการตอนก่อนออกจากราชการ
ข้าราชการซึ่งได้รับบำเหน็จไปแล้ว จะนับเวลาราชการต่อเนื่องตามวรรคหนึ่งได้จะต้องคืนบำเหน็จที่ได้รับพร้อมดอกเบี้ยตามอัตราเงินฝากประจำของธนาคารออมสิน ส่วนระยะเวลาในการคืนบำเหน็จให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด
ข้าราชการซึ่งได้รับหรือมีสิทธิได้รับบำนาญปกติแล้ว จะนับเวลาราชการต่อเนื่องตามวรรคหนึ่งได้จะต้องคืนเงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนเงินดังกล่าวที่ได้รับแก่กองทุนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด และให้งดการจ่ายบำนาญตลอดเวลาที่กลับเข้ารับราชการใหม่นั้น แต่ถ้าผู้นั้นประสงค์จะรับบำนาญต่อไป จะต้องมีหนังสือแจ้งความประสงค์ต่อส่วนราชการเจ้าสังกัดที่ผู้นั้นกลับเข้ารับราชการใหม่ภายในสามสิบวันนับแต่วันกลับเข้ารับราชการและจะนับเวลาราชการต่อเนื่องมิได้ ทั้งนี้ หากไม่คืนเงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนเงินดังกล่าว ให้ถือว่าผู้นั้นประสงค์จะรับบำนาญต่อไปด้วย ในกรณีที่รับบำนาญต่อไปถ้าเงินเดือนที่ได้รับในขณะกลับเข้ารับราชการใหม่เท่าหรือสูงกว่าเงินเดือนเดิม เมื่อออกจากราชการให้งดการจ่ายบำนาญ แต่ถ้าเงินเดือนใหม่น้อยกว่าเงินเดือนเดิมให้รับบำนาญเท่ากับผลต่างของเงินเดือนใหม่และเงินเดือนเดิม โดยให้ส่วนราชการที่ผู้นั้นกลับเข้ารับราชการใหม่แจ้งไปยังเจ้าสังกัดที่ผู้นั้นรับบำนาญอยู่และกองทุนเพื่องดหรือลดการจ่ายบำนาญ เมื่อออกจากราชการให้มีสิทธิได้รับบำนาญโดยคำนวณจากเงินเดือนและเวลาราชการในตอนใหม่บวกเข้ากับบำนาญเดิมบำนาญในตอนหลังจะเปลี่ยนเป็นขอรับบำเหน็จแทนก็ได้
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ข้าราชการซึ่งกลับเข้ารับราชการใหม่อาจมีสิทธิได้รับเงินประเดิมและเงินชดเชยตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
ความในมาตรานี้ให้ใช้บังคับแก่ข้าราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งกลับเข้ารับราชการเป็นข้าราชการประเภทต่าง ๆ ตามคำนิยามในมาตรา ๓ โดยอนุโลม
มาตรา ๓๘/๑ ในกรณีที่ข้าราชการซึ่งกลับเข้ารับราชการใหม่ ประสงค์จะส่งเงินสะสม เงินสมทบและผลประโยชน์ตอบแทนเงินดังกล่าวที่ได้รับไปแล้วแก่กองทุนเพื่อให้กองทุนนำไปลงทุนหาผลประโยชน์ต่อไป ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๓๙ ให้สมาชิกส่งเงินสะสมเข้ากองทุนตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง เว้นแต่สมาชิกซึ่งรับราชการอยู่ก่อนวันที่บทบัญญัติแห่งหมวดนี้ใช้บังคับ จะส่งเงินสะสมเข้ากองทุนหรือไม่ก็ได้
ในกรณีที่สมาชิกผู้ใดประสงค์ที่จะส่งเงินสะสมเข้ากองทุนเกินกว่าอัตราตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด แต่ทั้งนี้ การส่งเงินสะสมตามมาตรานี้รวมกันแล้วจะต้องไม่เกินร้อยละสิบห้าของเงินเดือน
ถ้าสมาชิกไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือนหรือได้รับเงินเดือนไม่เต็มจำนวนสำหรับระยะเวลาใดให้ส่งเงินสะสมตามส่วนแห่งเงินเดือนที่สมาชิกผู้นั้นได้รับ
การส่งเงินสะสมตามมาตรานี้ ให้ส่วนราชการหักจากเงินเดือนที่สมาชิกผู้นั้นได้รับและส่งเข้ากองทุนในวันที่มีการจ่ายเงินเดือน
ให้ส่วนราชการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนให้สมาชิกในจำนวนที่เท่ากับอัตราเงินสะสมตามที่กำหนดในกฎกระทรวงพร้อมการส่งเงินสะสมนั้น แต่ถ้าสมาชิกไม่ได้รับเงินเดือนหรือได้รับเงินเดือนไม่เต็มจำนวน ให้ส่งเงินสมทบตามอัตราส่วนแห่งเงินเดือนที่สมาชิกผู้นั้นได้รับ
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ เงินเดือนไม่รวมถึงเงินเพิ่มพิเศษรายเดือนสำหรับค่าวิชา สำหรับประจำตำแหน่งที่ต้องฝ่าอันตรายเป็นปกติ สำหรับการสู้รบ สำหรับการปราบปรามผู้กระทำความผิดหรือเงินเพิ่มอย่างอื่น
มาตรา ๔๐ ให้กระทรวงการคลังคำนวณเงินประเดิมสำหรับสมาชิกตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงเพื่อนำส่งเข้ากองทุน
การส่งเงินประเดิมตามวรรคหนึ่ง ให้จ่ายจากเงินคงคลัง
มาตรา ๔๑ ให้ส่วนราชการส่งเงินชดเชยเข้ากองทุนให้แก่สมาชิกตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินเดือนให้แก่สมาชิก ในการนี้ให้นำมาตรา ๓๙ วรรคหก มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ถ้าสมาชิกไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือนหรือได้รับเงินเดือนไม่เต็มจำนวนสำหรับระยะเวลาใด ให้ส่งเงินชดเชยตามส่วนแห่งเงินเดือนที่สมาชิกผู้นั้นได้รับ
มาตรา ๔๒ สมาชิกมีสิทธิได้รับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นจากกองทุนตามที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๔๓ สมาชิกมีสิทธิกู้เงินจากกองทุนไม่เกินจำนวนเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ตอบแทนเงินดังกล่าวที่บันทึกไว้ในบัญชีเงินรายบุคคลเพื่อใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ หลักเกณฑ์ และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๔๔ สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลงเมื่อผู้นั้นออกจากราชการ เว้นแต่เป็นการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการนั้น ๆ หรือการออกจากราชการของผู้ไปปฏิบัติงานตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์การสั่งให้ข้าราชการไปทำการซึ่งให้นับเวลาระหว่างนั้นเหมือนเต็มเวลาราชการ
มาตรา ๔๕ สมาชิกมีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญ เงินสะสม เงินสมทบ เงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนเงินดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้เมื่อสมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลง
มาตรา ๔๖ สมาชิกซึ่งส่งเงินสะสมเข้ากองทุน ให้มีสิทธิได้รับเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ตอบแทนเงินดังกล่าวจากกองทุน
มาตรา ๔๗ สมาชิกซึ่งมีเวลาราชการตั้งแต่สิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป แต่ไม่ถึงยี่สิบห้าปีบริบูรณ์ ให้มีสิทธิได้รับบำเหน็จ
มาตรา ๔๘ สมาชิกตามมาตรา ๓๕ ซึ่งมีเวลาราชการตั้งแต่ยี่สิบห้าปีบริบูรณ์ขึ้นไปให้มีสิทธิได้รับบำนาญ เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนเงินดังกล่าว เว้นแต่จะเลือกรับบำเหน็จแทน
สำหรับสมาชิกตามมาตรา ๓๖ (๑) หรือ (๒) ซึ่งมีเวลาราชการตั้งแต่ยี่สิบห้าปีบริบูรณ์ขึ้นไปให้มีสิทธิได้รับบำนาญ เงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนเงินดังกล่าว เว้นแต่จะเลือกรับบำเหน็จแทน
มาตรา ๔๙ นอกจากกรณีที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔๗ และมาตรา ๔๘ สมาชิกมีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) เหตุทุพพลภาพ
(๒) เหตุทดแทน
(๓) เหตุสูงอายุ
มาตรา ๕๐ บำเหน็จบำนาญเหตุทุพพลภาพให้จ่ายให้แก่สมาชิกซึ่งออกจากราชการเพราะป่วยเจ็บทุพพลภาพ ซึ่งแพทย์ที่ทางราชการรับรองได้ตรวจและแสดงความเห็นว่า ไม่สามารถที่จะรับราชการในตำแหน่งหน้าที่ซึ่งปฏิบัติอยู่นั้นต่อไปได้
มาตรา ๕๑ บำเหน็จบำนาญเหตุทดแทนให้จ่ายให้แก่สมาชิกซึ่งออกจากราชการเพราะทางราชการเลิกหรือยุบตำแหน่ง หรือมีคำสั่งให้ออกโดยไม่มีความผิด หรือทหารซึ่งออกจากกองหนุนเบี้ยหวัด
มาตรา ๕๒ บำเหน็จบำนาญเหตุสูงอายุให้จ่ายให้แก่สมาชิกซึ่งออกจากราชการเมื่อมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์แล้ว หรือลาออกเมื่อมีอายุครบห้าสิบปีบริบูรณ์แล้ว
มาตรา ๕๓ สมาชิกซึ่งมีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญด้วยเหตุทุพพลภาพ เหตุทดแทน หรือเหตุสูงอายุ จะได้รับเงินตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(๑) ถ้ามีเวลาราชการตั้งแต่หนึ่งปีบริบูรณ์ขึ้นไปแต่ไม่ถึงสิบปีบริบูรณ์มีสิทธิได้รับบำเหน็จ
(๒) ถ้ามีเวลาราชการตั้งแต่สิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป
(ก) สมาชิกตามมาตรา ๓๕ ให้มีสิทธิตามมาตรา ๔๘ วรรคหนึ่ง
(ข) สมาชิกตามมาตรา ๓๖ (๑) หรือ (๒) ให้มีสิทธิตามมาตรา ๔๘ วรรคสอง
มาตรา ๕๔ สมาชิกซึ่งถูกไล่ออกจากราชการ หรือถึงแก่ความตาย เนื่องจากการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงของตนเอง ผู้นั้นหรือทายาทไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญ เงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนเงินดังกล่าว
มาตรา ๕๕ สิทธิในการรับบำนาญให้เริ่มมีตั้งแต่เมื่อสมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลงจนกระทั่งผู้นั้นถึงแก่ความตาย
มาตรา ๕๖ (ยกเลิก)
มาตรา ๕๗ ให้ผู้รับบำนาญตามพระราชบัญญัตินี้มีสิทธิได้รับสวัสดิการและเงินช่วยเหลือต่าง ๆ เช่นเดียวกับผู้รับบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
มาตรา ๕๗/๑ ผู้รับบำนาญมีสิทธิขอรับบำเหน็จดำรงชีพตามอัตราและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ต้องไม่เกินสิบห้าเท่าของบำนาญรายเดือนที่ผู้นั้นได้รับ
ในกรณีที่ผู้รับบำนาญเป็นผู้รับบำนาญพิเศษเพราะเหตุทุพพลภาพตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการด้วย ให้นำบำนาญและบำนาญพิเศษเพราะเหตุทุพพลภาพรวมเป็นบำนาญรายเดือนเพื่อคำนวณจ่ายเป็นบำเหน็จดำรงชีพแก่ผู้นั้น
เมื่อได้รับบำเหน็จดำรงชีพแล้ว ผู้รับบำนาญไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จดำรงชีพอีก ถ้าภายหลังผู้นั้นกลับเข้ารับราชการใหม่และได้ออกจากราชการในครั้งหลังโดยเลือกรับบำนาญ
ผู้รับบำนาญผู้ใดได้รับบำเหน็จดำรงชีพไปแล้ว ถ้าภายหลังผู้นั้นกลับเข้ารับราชการใหม่ โดยมีสิทธินับเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญตอนก่อนออกจากราชการต่อเนื่องกับการรับราชการในตอนหลังตามมาตรา ๓๘ และเมื่อออกจากราชการในครั้งหลังโดยเลือกรับบำเหน็จ การจ่ายบำเหน็จในกรณีเช่นว่านี้ให้หักเงินออกจากบำเหน็จที่จะได้รับเท่ากับเงินบำเหน็จดำรงชีพเสียก่อน
ในกรณีที่ผู้รับบำนาญได้แสดงเจตนาขอรับบำเหน็จดำรงชีพไว้แล้ว แต่ได้ถึงแก่ความตายก่อนได้รับเงินบำเหน็จดำรงชีพ ให้การจ่ายเงินดังกล่าวเป็นอันระงับไป
มาตรา ๕๘ ในกรณีที่สมาชิกผู้ใดถึงแก่ความตายในระหว่างรับราชการและความตายนั้นมิได้เกิดขึ้นเนื่องจากการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงของตนเอง หรือในกรณีที่ผู้รับบำนาญถึงแก่ความตาย ให้จ่ายบำเหน็จตกทอดแก่ทายาทของสมาชิกหรือผู้รับบำนาญตามเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) บุตรให้ได้รับสองส่วน ถ้าสมาชิกผู้ตายมีบุตรตั้งแต่สามคนขึ้นไปให้ได้รับสามส่วน
(๒) สามีหรือภริยาให้ได้รับหนึ่งส่วน
(๓) บิดามารดา หรือบิดาหรือมารดาที่มีชีวิตอยู่ให้ได้รับหนึ่งส่วน
ในกรณีที่ไม่มีทายาทในอนุมาตราใด หรือทายาทนั้นได้ตายไปเสียก่อน ให้แบ่งเงินดังกล่าวระหว่างทายาทผู้มีสิทธิในอนุมาตราที่มีทายาทผู้มีสิทธิได้รับ
ในกรณีที่ไม่มีทายาททั้งสามอนุมาตราดังกล่าว ให้จ่ายแก่บุคคลซึ่งสมาชิกผู้ตายแสดงเจตนาไว้ต่อส่วนราชการเจ้าสังกัดตามแบบและวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด
ในกรณีที่ไม่มีทายาทและบุคคลซึ่งสมาชิกผู้ตายได้แสดงเจตนาไว้ตามวรรคสาม หรือบุคคลนั้นได้ตายไปก่อน ให้สิทธิในบำเหน็จตกทอดนั้นเป็นอันยุติลง
ในกรณีที่ได้มีการจ่ายบำเหน็จตกทอดไปแล้วหากปรากฏว่ามีบุตรซึ่งได้มีคำพิพากษาของศาลว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ซึ่งได้มีการฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรก่อนหรือภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่บิดาตายหรือนับแต่วันที่ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของบิดาเพิ่มขึ้น ให้แบ่งบำเหน็จตกทอดนั้นใหม่ระหว่างทายาทผู้มีสิทธิโดยถือว่าบุตรชอบด้วยกฎหมายตามคำพิพากษานั้นเป็นทายาทผู้มีสิทธิตั้งแต่วันตาย ในกรณีเช่นนี้ให้กระทรวงการคลังเรียกคืนบำเหน็จตกทอดจากทายาทซึ่งรับบำเหน็จตกทอดไปก่อนแล้วตามระเบียบที่กระทรวงการคลังกำหนด
ในกรณีที่ไม่สามารถเรียกคืนบำเหน็จตกทอดที่จ่ายให้ทายาทซึ่งรับเกินไปในส่วนของตนตามวรรคห้าได้ กระทรวงการคลังไม่ต้องรับผิดชอบจ่ายเงินบำเหน็จตกทอดให้แก่บุตรซึ่งได้มีคำพิพากษาของศาลว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายย้อนหลังไปถึงวันเกิดสิทธิรับบำเหน็จตกทอดแต่อย่างใด
มาตรา ๕๙ ในกรณีที่สมาชิกผู้ถึงแก่ความตายได้ส่งเงินสะสมเข้ากองทุน ให้จ่ายเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ตอบแทนเงินดังกล่าวแก่ผู้มีสิทธิรับมรดกของสมาชิกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๖๐ ในกรณีที่ผู้รับบำนาญถึงแก่ความตาย นอกจากทายาทจะมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดตามมาตรา ๕๘ แล้ว ให้มีสิทธิได้รับเงินช่วยพิเศษตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกันด้วย
มาตรา ๖๑ สิทธิการรับเงินต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้เป็นสิทธิเฉพาะตัวไม่อาจโอนแก่กันได้
มาตรา ๖๒ การคำนวณบำเหน็จให้คำนวณจากอัตราเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยเวลาราชการ
มาตรา ๖๓ การคำนวณบำนาญให้คำนวณจากอัตราเงินเดือนเฉลี่ยหกสิบเดือนสุดท้ายคูณด้วยเวลาราชการ หารด้วยห้าสิบ แต่ต้องไม่เกินร้อยละเจ็ดสิบของอัตราเงินเดือนเฉลี่ยหกสิบเดือนสุดท้าย
การคำนวณบำนาญของผู้กลับเข้ารับราชการใหม่ตามมาตรา ๓๘ หากเวลาราชการซึ่งกลับเข้ารับราชการใหม่ยังไม่ครบห้าปีอัตราเงินเดือนเฉลี่ยที่จะนำมาคำนวณบำนาญให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๖๔ บำเหน็จตกทอดที่จ่ายให้แก่ทายาทของสมาชิก ให้คำนวณจากอัตราเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยเวลาราชการของผู้ตาย
มาตรา ๖๕ บำเหน็จตกทอดที่จ่ายให้แก่ทายาทของผู้รับบำนาญ ให้จ่ายสามสิบเท่าของอัตราบำนาญที่ผู้ตายมีสิทธิได้รับ
ในกรณีที่ได้มีการรับบำเหน็จดำรงชีพไปแล้ว เมื่อผู้รับบำนาญถึงแก่ความตาย การจ่ายเงินบำเหน็จตกทอดตามวรรคหนึ่ง ให้หักเงินออกจากบำเหน็จตกทอดที่จะได้รับเท่ากับเงินบำเหน็จดำรงชีพเสียก่อน
มาตรา ๖๖ การนับเวลาราชการเพื่อให้เกิดสิทธิรับบำเหน็จบำนาญให้นับจำนวนปี เศษของปีถ้าถึงครึ่งปีให้นับเป็นหนึ่งปี
การนับเวลาราชการเพื่อคำนวณจำนวนบำเหน็จบำนาญให้นับจำนวนปีรวมทั้งเศษของปีด้วย การนับเศษของปีซึ่งเป็นเดือนหรือวันให้คำนวณตามวิธีการจ่ายเงินเดือนและให้นับสิบสองเดือนเป็นหนึ่งปี สำหรับจำนวนวันถ้ามีรวมกันหลายระยะให้นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือน
มาตรา ๖๗ เมื่อมีผู้ยื่นคำขอรับเงินตามมาตรา ๔๕ ให้ส่วนราชการเจ้าสังกัดที่ได้รับคำขอนั้นตรวจสอบสิทธิในการได้รับเงินสะสม เงินสมทบ เงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนเงินดังกล่าวของผู้ยื่นคำขอ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จและแจ้งให้กองทุนทราบภายในสิบห้าวันทำการนับแต่วันที่ได้รับคำขอรับเงินดังกล่าว เว้นแต่กรณีที่มีเหตุอันสมควร
การจ่ายเงินจากกองทุนให้แก่ผู้มีสิทธิตามวรรคหนึ่ง ให้กองทุนจ่ายภายในเจ็ดวันทำการนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากส่วนราชการเจ้าสังกัด และได้ปรากฏหลักฐานถูกต้องครบถ้วน
มาตรา ๖๗/๑ ผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินสะสม เงินสมทบ เงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนเงินดังกล่าวตามมาตรา ๔๕ ผู้ใดที่ยังไม่ขอรับเงินคืน หรือขอทยอยรับเงินคืน ให้กองทุนบริหารเงินที่ยังไม่รับคืนต่อไปได้ แต่ถ้าผู้นั้นขอโอนเงินไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันในกรณีการออกจากงานหรือการชราภาพ ให้กองทุนโอนเงินไปยังกองทุนดังกล่าวภายในเจ็ดวันทำการนับแต่วันที่ผู้นั้นแสดงความประสงค์ และได้ปรากฏหลักฐานถูกต้องครบถ้วน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๖๗/๒ เงินประเดิมตามบัญชีเงินรายตัวสมาชิกซึ่งกระทรวงการคลังส่งเข้ากองทุนตามมาตรา ๔๐ นั้น หากต่อมามีข้อมูลเพิ่มเติมทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงยอดเงินประเดิมและดอกผลของเงินดังกล่าวของสมาชิกรายใดแล้ว ให้กองทุนคำนวณผลการเปลี่ยนแปลงสุทธิเป็นรายเดือน ในกรณีที่ผลการเปลี่ยนแปลงสุทธิเป็นการรับเงินเกิน ให้กองทุนส่งเงินดังกล่าวคืนแก่กระทรวงการคลัง แต่ในกรณีที่ผลการเปลี่ยนแปลงสุทธิเป็นการรับเงินขาด ให้กองทุนทดรองจ่ายออกจากบัญชีเงินกองกลางเพื่อเข้าบัญชีรายตัวสมาชิกก่อน หลังจากนั้นให้แจ้งกระทรวงการคลังทราบ และให้กระทรวงการคลังดำเนินการส่งเงินเท่าจำนวนเงินที่ทดรองจ่ายไปคืนแก่บัญชีเงินกองกลางภายในปีงบประมาณถัดไป
มาตรา ๖๘ ให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการมาใช้บังคับโดยอนุโลมเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๖๙ การหาประโยชน์ของกองทุนให้เป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการและจะมอบหมายให้บุคคลใดดำเนินการแทนตามความเหมาะสมก็ได้
การมอบหมายให้จัดการเงินของกองทุนภายในประเทศนั้น กองทุนจะต้องมอบหมายให้สถาบันการเงินหรือนิติบุคคลอื่นที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการลงทุนไม่น้อยกว่าสองแห่ง ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือผู้ได้รับอนุญาตจัดการกองทุนส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดการกองทุน ทั้งนี้ โดยให้คำนึงถึงการกระจายความเสี่ยงด้วย และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการหาประโยชน์ของกองทุนภายในประเทศ ให้ผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดการกองทุนมีหน้าที่และอยู่ในบังคับบทบัญญัติต่าง ๆ ตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เสมือนหนึ่งกองทุนเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนส่วนบุคคล แล้วแต่กรณี
การมอบหมายให้จัดการเงินของกองทุนในต่างประเทศนั้น กองทุนจะต้องมอบหมายให้สถาบันการเงินหรือนิติบุคคลอื่นที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลตามกฎหมายของประเทศนั้น ๆ เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดการกองทุน
การให้สถาบันการเงินหรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดการกองทุนในประเทศหรือในต่างประเทศ คุณสมบัติของผู้รับดำเนินการ วิธีดำเนินการ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๗๐ เงินของกองทุนนอกจากส่วนที่นำไปลงทุนตามแผนการลงทุนในวรรคสอง ให้ลงทุนได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งอย่างน้อยต้องกำหนดให้ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงไม่ต่ำกว่าร้อยละหกสิบ ยกเว้นเงินสำรองตามมาตรา ๗๒ ต้องนำไปลงทุนในตราสารแสดงสิทธิในหนี้ของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจก่อน
กองทุนอาจจัดให้มีแผนการลงทุนสำหรับเงินที่อยู่ในบัญชีเงินรายบุคคลเฉพาะในส่วนของเงินสะสม เงินสมทบ และดอกผลของเงินดังกล่าว ตามมาตรา ๗๑ (๓) เพื่อให้สมาชิกเลือก โดยในแต่ละแผนอาจกำหนดให้ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงแตกต่างจากอัตราที่กำหนดไว้ตามวรรคหนึ่งได้
การจัดให้มีแผนการลงทุน การเลือกแผนการลงทุน การให้ข้อมูลประกอบการพิจารณาเลือกแผนการลงทุนแก่สมาชิก และการเปลี่ยนแปลงแผนการลงทุน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
หมวด ๓/๑
การรับข้าราชการซึ่งโอนไปเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นเป็นสมาชิก
มาตรา ๗๐/๑ ในกรณีที่มีกฎหมายหรือมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้มีการถ่ายโอนภารกิจการให้บริการสาธารณะที่รัฐดำเนินการอยู่แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สมาชิกซึ่งโอนไปเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นตั้งแต่วันที่บทบัญญัติแห่งหมวดนี้ใช้บังคับ ยังคงมีสมาชิกภาพของสมาชิกต่อไป
ให้นำบทบัญญัติในหมวด ๓ ว่าด้วยสมาชิกและสิทธิประโยชน์ของสมาชิกมาใช้บังคับกับสมาชิกตามหมวดนี้โดยอนุโลม เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งหมวดนี้
มาตรา ๗๐/๒ ในกรณีที่สมาชิกตามมาตรา ๗๐/๑ ได้เคยเป็นข้าราชการและสมาชิกมาก่อนที่จะโอนไปเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น ให้สมาชิกผู้นั้นมีสมาชิกภาพต่อเนื่องกับสมาชิกภาพเดิมได้ ในการนี้ให้มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญปกติ บำเหน็จตกทอด เงินสะสม เงินสมทบ เงินประเดิม เงินชดเชยและผลประโยชน์ตอบแทนเงินดังกล่าว แล้วแต่กรณี ต่อเนื่องจากสิทธิที่เคยมีอยู่เดิมต่อไป และให้นับเวลาราชการต่อเนื่องกับการเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม เว้นแต่บำเหน็จดำรงชีพและบำเหน็จบำนาญพิเศษให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น
มาตรา ๗๐/๓ การส่งเงินสะสมเข้ากองทุนของสมาชิกตามมาตรา ๗๐/๑ และการส่งเงินสมทบและเงินชดเชยเข้ากองทุน ให้นำมาตรา ๓๙ และมาตรา ๔๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๗๐/๔ บำเหน็จบำนาญของสมาชิกตามมาตรา ๗๐/๑ ให้จ่ายจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น
การคำนวณบำเหน็จบำนาญ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
การขอรับบำเหน็จบำนาญให้นำระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๗๐/๕ การดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ในส่วนที่กล่าวถึงส่วนราชการให้หมายความรวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย
หมวด ๓/๒
การรับพนักงานมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐเป็นสมาชิก
มาตรา ๗๐/๖ ในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้มหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาของรัฐเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ให้สมาชิกซึ่งเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยและประสงค์จะเป็นสมาชิกตั้งแต่วันที่บทบัญญัติแห่งหมวดนี้ใช้บังคับ ยังคงมีสมาชิกภาพของสมาชิกต่อไป
ให้นำบทบัญญัติในหมวด ๓ ว่าด้วยสมาชิกและสิทธิประโยชน์ของสมาชิกมาใช้บังคับกับสมาชิกตามหมวดนี้โดยอนุโลม เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งหมวดนี้
มาตรา ๗๐/๗ ในกรณีที่สมาชิกตามมาตรา ๗๐/๖ ได้เคยเป็นข้าราชการและสมาชิกมาก่อนที่จะเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ให้สมาชิกผู้นั้นมีสมาชิกภาพต่อเนื่องกับสมาชิกภาพเดิมได้ ในการนี้ ให้มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญปกติ บำเหน็จดำรงชีพ บำเหน็จตกทอด เงินสะสม เงินสมทบ เงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนเงินดังกล่าว แล้วแต่กรณี ต่อเนื่องจากสิทธิที่เคยมีอยู่เดิมต่อไป และให้นับเวลาราชการต่อเนื่องกับการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๗๐/๘ ให้สมาชิกตามมาตรา ๗๐/๖ ส่งเงินสะสมเข้ากองทุนโดยคำนวณตามบัญชีอัตราเงินเดือนและตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ทั้งนี้ การส่งเงินสะสมดังกล่าวจะต้องไม่เกินร้อยละสิบห้าของเงินเดือน
เงินสะสมตามวรรคหนึ่ง ให้มหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐที่สมาชิกผู้นั้นสังกัดหักส่งและจ่ายสมทบในจำนวนที่เท่ากับอัตราเงินสะสมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง พร้อมการส่งเงินสะสมนั้น
ให้มหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐที่สมาชิกผู้นั้นสังกัดส่งเงินชดเชยเข้ากองทุน โดยคำนวณตามบัญชีอัตราเงินเดือนตามวรรคหนึ่ง และตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๗๐/๙ ให้คำนวณบำเหน็จบำนาญโดยนำบัญชีอัตราเงินเดือนตามมาตรา ๗๐/๘ วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับ
การจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญ บำเหน็จดำรงชีพ และบำเหน็จตกทอด ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด
หมวด ๔
การเงิน การบัญชี และการตรวจสอบ
มาตรา ๗๑ ให้กองทุนจัดให้มีบัญชี ประกอบด้วย
(๑) บัญชีเงินสำรองซึ่งแสดงรายการเงินสำรอง และดอกผลของเงินดังกล่าว
(๒) บัญชีเงินกองกลางซึ่งแสดงรายการเงินที่มีผู้บริจาคให้ เงินตามบัญชี เงินรายบุคคลที่ไม่มีผู้รับ เงินส่วนกลางที่มิใช่ของสมาชิกคนใด และดอกผลของเงินดังกล่าว
(๓) บัญชีเงินรายบุคคลซึ่งแสดงรายการเงินสะสม เงินสมทบ เงินประเดิม เงินชดเชย และดอกผลของเงินดังกล่าวบรรดาที่เป็นของสมาชิกแต่ละคน
มาตรา ๗๒ ให้รัฐตั้งงบประมาณรายจ่ายเป็นรายปีเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของงบประมาณรายจ่ายบำเหน็จบำนาญของข้าราชการประจำปีเข้าบัญชีเงินสำรองทุกปีจนกว่าเงินสำรอง เงินกองกลาง และดอกผลของเงินดังกล่าวจะมีจำนวนสามเท่าของงบประมาณรายจ่ายบำเหน็จบำนาญของข้าราชการประจำปี หลังจากนั้นให้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อให้เงินสำรอง เงินกองกลาง และดอกผลของเงินดังกล่าวคงระดับสามเท่าของงบประมาณรายจ่ายบำเหน็จบำนาญของข้าราชการในแต่ละปี และถ้าเงินสำรอง เงินกองกลาง และดอกผลของเงินดังกล่าวมีจำนวนเกินสามเท่าของงบประมาณรายจ่ายบำเหน็จบำนาญของข้าราชการประจำปี ให้นำเงินส่วนที่เกินนั้นส่งเป็นรายได้แผ่นดิน
ในกรณีเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจของประเทศ รัฐอาจสั่งให้กองทุนส่งเงินออกจากบัญชีเงินสำรองกลับคืนเป็นรายได้แผ่นดินเพื่อจ่ายเป็นบำเหน็จบำนาญข้าราชการได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่รัฐจะต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยส่วนของเงินดังกล่าวที่นำไปใช้ส่งคืนกองทุนในปีงบประมาณถัดไป
มาตรา ๗๓ ดอกผลที่ได้จากการนำเงินของกองทุนในแต่ละบัญชีไปลงทุนหาผลประโยชน์ตามมาตรา ๗๐ เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามส่วนของการลงทุนในแต่ละบัญชีแล้ว ดอกผลที่ได้จากการนำเงินสำรองไปลงทุนให้บันทึกไว้ในบัญชีเงินสำรอง ดอกผลที่ได้จากการนำเงินกองกลางไปลงทุนให้บันทึกไว้ในบัญชีเงินกองกลาง ดอกผลที่ได้จากการนำเงินรายบุคคลไปลงทุนให้บันทึกไว้ในบัญชีรายบุคคล สำหรับดอกผลที่ได้จากการนำเงินรายบุคคลในส่วนของเงินสะสม เงินสมทบและดอกผลของเงินดังกล่าวไปลงทุนตามแผนการลงทุนให้บันทึกแยกตามผลประกอบการของแต่ละแผนการลงทุน โดยให้จัดสรรผลประโยชน์ตอบแทนไว้ในบัญชีเงินรายบุคคลของสมาชิกตามอัตราผลตอบแทนของแต่ละแผนการลงทุนที่เลือกไว้ตามสัดส่วนของเงินแยกต่างหากจากกัน ทั้งนี้ การคำนวณดอกผล ค่าใช้จ่ายและการจัดสรรผลประโยชน์ตอบแทน ให้ทำเป็นประจำตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
สมาชิกไม่มีสิทธิเรียกร้องผลตอบแทนจากแผนการลงทุนอื่นที่สมาชิกมิได้เลือก
มาตรา ๗๓/๑ ในกรณีที่ไม่มีการจ่ายเงินประเดิมหรือเงินชดเชยของสมาชิก เพราะเหตุสมาชิกไม่มีสิทธิได้รับเนื่องจากการออกจากราชการ หรือเพราะเหตุการรับบำเหน็จ หรือบำเหน็จตกทอดแล้วแต่กรณี ให้กองทุนส่งเงินประเดิมหรือเงินชดเชยของสมาชิกรายนั้น พร้อมดอกผลของเงินดังกล่าวคืนแก่กระทรวงการคลังโดยเร็ว ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด
มาตรา ๗๔ ให้กองทุนแจ้งยอดเงินสะสม เงินสมทบ เงินประเดิม และเงินชดเชย พร้อมทั้งผลประโยชน์ตอบแทนเงินดังกล่าวในส่วนของสมาชิกแต่ละคนให้สมาชิกทราบอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
มาตรา ๗๕ ให้กองทุนยื่นรายงานแสดงการจัดการกองทุนต่อรัฐมนตรีอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนด
มาตรา ๗๖ กองทุนต้องวางและถือไว้ซึ่งระบบการบัญชีที่เหมาะสมแก่กิจการแยกตามประเภทงานส่วนที่สำคัญ มีสมุดบัญชีลงรายการรับและจ่ายเงินสินทรัพย์และหนี้สินที่แสดงกิจการที่เป็นอยู่ตามความจริงและตามที่ควร ตามประเภทงานพร้อมด้วยข้อความอันเป็นที่มาของรายการนั้น ๆ และให้มีการตรวจสอบบัญชีภายในเป็นประจำ
มาตรา ๗๗ กองทุนต้องจัดทำงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน ส่งผู้สอบบัญชีภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี
มาตรา ๗๘ ทุกปีให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีทำการตรวจสอบรับรองบัญชีทุกประเภทของกองทุน
มาตรา ๗๙ ผู้สอบบัญชีมีอำนาจตรวจสอบสรรพสมุด บัญชี และเอกสารหลักฐานของกองทุน เพื่อการนี้ให้มีอำนาจสอบถามประธานกรรมการ กรรมการ พนักงานและลูกจ้างได้
มาตรา ๘๐ ผู้สอบบัญชีต้องทำรายงานผลการสอบบัญชีของกองทุนเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ผู้แทนสมาชิกภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชีเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการ
มาตรา ๘๑ กองทุนต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่ผู้แทนสมาชิกอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เพื่อพิจารณารายงานผลการดำเนินงาน ฐานะการเงินและการรับจ่ายเงินของกองทุน
การประชุมใหญ่และการเลือกผู้แทนสมาชิกตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนด
ให้ที่ประชุมใหญ่ผู้แทนสมาชิกมีอำนาจแสดงข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินงานของกองทุนต่อคณะกรรมการ
มาตรา ๘๒ เมื่อได้รับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินงานของกองทุนจากที่ประชุมใหญ่ผู้แทนสมาชิกแล้ว ให้คณะกรรมการทำรายงานการสอบบัญชีพร้อมทั้งข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี และประกาศรายงานการสอบบัญชีในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
หมวด ๕
การควบคุมกำกับการจัดการกองทุน
มาตรา ๘๓ ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดการกองทุน กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดการกองทุนชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดการกองทุนภายในระยะเวลาที่กำหนด
ในกรณีที่ผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดการกองทุนไม่ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดการกองทุนภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือปรากฏว่าผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดการกองทุนจัดการกองทุนในลักษณะที่อาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่กองทุน ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดการกองทุนแก้ไขหรือระงับการกระทำนั้น หรือสั่งยกเลิกการมอบหมายให้เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดการกองทุนนั้นได้
มาตรา ๘๔ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับและดูแลโดยทั่วไป ซึ่งการจัดการกองทุน เพื่อประโยชน์ในการนี้จะสั่งแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดการกองทุนก็ได้ และให้รัฐมนตรีแจ้งให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและรายงานให้รัฐมนตรีทราบด้วย
ในกรณีที่รัฐมนตรีเห็นว่า ผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดการกองทุน จัดการกองทุนในลักษณะที่อาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่กองทุน รัฐมนตรีอาจขอให้คณะกรรมการพิจารณาดำเนินการตามมาตรา ๘๓ วรรคสอง
มาตรา ๘๕ เมื่อได้รับคำสั่งตามมาตรา ๘๓ วรรคสองแล้ว ให้ผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดการกองทุนหยุดจัดการกองทุนในทันที และส่งมอบทรัพย์สินคืนภายในเวลาที่กำหนดในคำสั่งนั้น
มาตรา ๘๖ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) เข้าไปในสถานที่ประกอบธุรกิจหรือสถานที่ตั้งของผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดการกองทุนในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการของสถานที่นั้นเพื่อตรวจสอบสมุดบัญชีหรือเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการจัดการกองทุน
(๒) ยึดหรืออายัดเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อประโยชน์ในการสอบสวนข้อเท็จจริงหรือดำเนินคดี
(๓) สั่งให้กรรมการ ผู้จัดการ พนักงานหรือลูกจ้างของผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดการกองทุนมาให้ถ้อยคำหรือส่งสำเนาหรือแสดงสมุดบัญชี หรือเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการจัดการกองทุน
ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกตามสมควร
เมื่อได้เข้าไปและลงมือทำการตรวจสอบตาม (๑) แล้ว ถ้ายังดำเนินการไม่เสร็จ จะกระทำต่อไปในเวลากลางคืนหรือนอกเวลาทำการของสถานที่นั้นก็ได้
มาตรา ๘๗ ในการปฏิบัติหน้าที่พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง
บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้เป็นไปตามแบบที่คณะกรรมการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๘๘ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
หมวด ๖
บทกำหนดโทษ
มาตรา ๘๙ ผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดการกองทุนรายใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘๕ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งแสนบาท จนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
ในกรณีที่ผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดการกองทุนกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง กรรมการผู้จัดการหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดการกองทุนนั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดการกองทุนนั้นด้วย
มาตรา ๙๐ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๘๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๙๑ กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดการกองทุนรายใดแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งในสาระสำคัญเกี่ยวกับการจัดการกองทุนต่อคณะกรรมการต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินสองล้านห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๙๒ ความผิดตามมาตรา ๘๙ และมาตรา ๙๐ ให้คณะกรรมการมีอำนาจเปรียบเทียบได้ เมื่อผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ถ้าผู้ต้องหาไม่ยินยอมตามที่เปรียบเทียบ หรือเมื่อยินยอมแล้วไม่ชำระเงินค่าปรับภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ดำเนินคดีต่อไป
บทเฉพาะกาล
มาตรา ๙๓ ให้ดำเนินการเลือกกรรมการผู้แทนสมาชิกและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และแต่งตั้งเลขาธิการเพื่อให้ได้คณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามพระราชบัญญัตินี้ ภายในสองร้อยสี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ในระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งประกอบด้วยปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เป็นกรรมการ และอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นกรรมการและเลขานุการ ทำหน้าที่คณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการและให้อธิบดีกรมบัญชีกลางทำหน้าที่เลขาธิการ เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อน
ในระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง อธิบดีกรมบัญชีกลางอาจแต่งตั้งบุคคลใดเป็นผู้ช่วยเลขานุการก็ได้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
บรรหาร ศิลปอาชา
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากระบบบำเหน็จบำนาญข้าราชการที่ให้รัฐต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายบำเหน็จบำนาญของข้าราชการประจำทุกปี โดยไม่มีการกันเงินสำรองไว้ล่วงหน้าสำหรับจ่ายบำเหน็จบำนาญในอนาคตนั้น ไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ทางการเงินการคลังของประเทศในปัจจุบันทำให้ไม่อาจวางแผนเชิงบริหารการเงินการคลังของประเทศในระยะยาวและไม่อาจวางแผนพัฒนาบุคลากรของรัฐได้ ดังนั้น สมควรปรับปรุงระบบบำเหน็จบำนาญข้าราชการดังกล่าวเสียใหม่โดยจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการขึ้นมีฐานะเป็นนิติบุคคล เพื่อเป็นหลักประกันการจ่ายบำเหน็จบำนาญและให้ประโยชน์ตอบแทนการรับราชการแก่ข้าราชการเมื่อออกจากราชการ และเพื่อส่งเสริมการออมทรัพย์ และจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นให้แก่ข้าราชการที่เป็นสมาชิกของกองทุน รวมทั้งให้เป็นสถาบันเงินออมที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเงินออมภายในประเทศ และการส่งเสริมการลงทุนอันเป็นการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยส่วนรวมอีกด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน่วยธุรการที่เป็นอิสระ ซึ่งได้มีการตรากฎหมายว่าด้วยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดตั้งสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นหน่วยธุรการของศาลรัฐธรรมนูญ มีฐานะเป็นส่วนราชการที่เป็นหน่วยงานอิสระโดยบุคลากรมีฐานะเป็นข้าราชการ ฉะนั้น เพื่อให้ข้าราชการเหล่านั้นได้รับสิทธิในกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ รวมทั้งข้าราชการของส่วนราชการที่เป็นหน่วยงานอิสระอื่น ๆ ที่จะมีการจัดตั้งขึ้นด้วย สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “ข้าราชการ” ในพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๓๙ ให้มีความหมายรวมถึงข้าราชการดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๖
มาตรา ๗ ผู้รับบำนาญซึ่งได้รับบำนาญอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้มีสิทธิได้รับบำเหน็จดำรงชีพตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ด้วย
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจได้เปลี่ยนแปลงเป็นอันมาก อันมีผลกระทบต่อการดำรงชีพของข้าราชการบำนาญซึ่งได้รับบำนาญเป็นรายเดือนในจำนวนที่คงที่ ดังนั้นเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้รับบำนาญให้สามารถดำรงชีพอย่างเหมาะสมและพอเพียงกับเศรษฐกิจในปัจจุบัน สมควรกำหนดให้ผู้รับบำนาญมีสิทธิขอรับบำเหน็จดำรงชีพจำนวนหนึ่งในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยเงินจำนวนที่ได้รับดังกล่าวจะนำไปหักออกจากบำเหน็จตกทอดซึ่งจะจ่ายให้แก่ทายาทหรือบุคคลที่ผู้รับบำนาญได้แสดงเจตนาให้เป็นผู้มีสิทธิที่จะได้รับตามกฎหมายเมื่อผู้รับบำนาญถึงแก่ความตาย ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้เป็นการนำเงินที่รัฐจะต้องจัดสรรเป็นงบประมาณรายจ่ายอยู่แล้วในอนาคตมาจ่ายให้แก่ผู้รับบำนาญส่วนหนึ่งก่อน โดยมิได้เป็นการเพิ่มภาระงบประมาณรายจ่ายของรัฐแต่อย่างใด จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๙
มาตรา ๕ ข้าราชการซึ่งโอนไปเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นเพราะมีกฎหมายหรือมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้มีการถ่ายโอนภารกิจการให้บริการสาธารณะที่รัฐดำเนินการอยู่แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อนวันที่บทบัญญัติแห่งหมวด ๓/๑ ใช้บังคับ ถ้าก่อนโอนไปเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้นั้นเป็นสมาชิก ให้ผู้นั้นยังคงมีสมาชิกภาพของสมาชิกกองทุนต่อไป และให้ผู้นั้นส่งเงินสะสมเข้ากองทุน และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำส่งเงินสมทบและเงินชดเชยเข้ากองทุนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๖ ข้าราชการซึ่งโอนไปเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นเพราะมีกฎหมายหรือมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้มีการถ่ายโอนภารกิจการให้บริการสาธารณะที่รัฐดำเนินการอยู่แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ผู้ใดออกจากราชการก่อนวันที่พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ผู้นั้นมีสิทธิในการรับบำเหน็จบำนาญ บำเหน็จดำรงชีพ บำเหน็จตกทอด เงินสะสม เงินสมทบ เงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนเงินดังกล่าวตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ด้วย
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่นโยบายของรัฐหรือกฎหมายหรือมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้มีการถ่ายโอนภารกิจการให้บริการสาธารณะที่รัฐดำเนินการอยู่แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้ต้องมีการถ่ายโอนข้าราชการของราชการส่วนกลางหรือราชการส่วนภูมิภาคไปเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น รวมทั้งได้มีกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งมหาวิทยาลัยกำหนดให้มหาวิทยาลัยของรัฐเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐอันมีผลทำให้สมาชิกภาพของสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการของบุคคลดังกล่าวสิ้นสุดลงด้วย ดังนั้น เพื่อให้ระบบสิทธิประโยชน์ของบุคคลดังกล่าวยังคงอยู่เช่นเดิม สมควรกำหนดให้บุคคลดังกล่าวยังคงเป็นสมาชิกและได้รับสิทธิประโยชน์ของสมาชิกต่อไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๕๐
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันการจ่ายบำเหน็จบำนาญ และให้ผลประโยชน์ตอบแทนการรับราชการแก่ข้าราชการเมื่อออกจากราชการ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิก และจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นให้แก่สมาชิกโดยกองทุนจะนำเงินไปลงทุนเพื่อหาผลประโยชน์ตอบแทนคืนสู่สมาชิกแต่เนื่องจากพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๓๙ ใช้บังคับมาเป็นเวลานานไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ดังนั้น เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินกิจการของกองทุนและเพื่อประโยชน์ของสมาชิก สมควรกำหนดให้กองทุนสามารถดำเนินกิจการของกองทุนได้ทั้งในประเทศและในต่างประเทศ โดยอาจมอบหมายให้สถาบันการเงินหรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการกองทุน รวมทั้งสามารถจัดตั้งบริษัทจำกัด เพื่อให้บริการแก่กองทุนหรือนิติบุคคลที่กองทุนเป็นหุ้นส่วนหรือถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละเจ็ดสิบห้าของหุ้นทั้งหมดของนิติบุคคลนั้น และให้สมาชิกสามารถส่งเงินสะสมเข้ากองทุนได้ตามความสามารถของแต่ละคน รวมทั้งสามารถเลือกแผนการลงทุนในหลักทรัพย์ที่กองทุนจัดทำขึ้น ซึ่งสมาชิกจะได้รับผลตอบแทนตามอัตราตอบแทนของแต่ละแผนการลงทุน นอกจากนั้น สมควรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในกรณีที่กองทุนบริหารเงินของผู้ซึ่งมีสิทธิได้รับเงินคืนแต่ยังไม่ขอรับเงินหรือทยอยขอรับเงินคืนและกรณีที่ผู้มีสิทธิรับเงินคืนขอโอนเงินไปยังกองทุนอื่น รวมทั้งการส่งเงินประเดิมหรือเงินชดเชยคืนแก่กระทรวงการคลัง ในกรณีที่ไม่มีการจ่ายเงินประเดิมหรือเงินชดเชย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๕๑
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการไม่มีบทบัญญัติให้ข้าราชการซึ่งกลับเข้ารับราชการใหม่ และประสงค์จะนับเวลาราชการต่อเนื่องคืนเงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนของเงินดังกล่าวที่ได้รับเมื่อออกจากราชการโดยรับบำนาญในครั้งแรก ส่งผลให้ผู้นั้นไม่มีสิทธิได้รับเงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนเงินดังกล่าวที่ได้รับไปในคราวออกจากราชการในครั้งแรกเมื่อได้ออกจากราชการและประสงค์เลือกรับบำเหน็จในภายหลัง รวมทั้งไม่มีบทบัญญัติให้สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการที่กลับเข้ารับราชการใหม่ คืนเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ตอบแทนเงินดังกล่าว ทำให้กองทุนไม่สามารถนำเงินดังกล่าวไปลงทุนตามความประสงค์ของข้าราชการผู้นั้นได้ นอกจากนี้สมควรยกเลิกบทบัญญัติที่ให้ผู้รับบำนาญปกติหรือบำนาญตกทอดที่กระทำความผิดถึงต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาโทษจำคุกหรือตกเป็นบุคคลล้มละลายทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายหมดสิทธิรับบำนาญปกติหรือบำนาญตกทอดนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุดเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้รับบำเหน็จหรือรับบำนาญโดยเสมอกัน รวมทั้งไม่กระทบสิทธิของบุคคลที่สามในเรื่องการรับบำเหน็จตกทอด จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้