ค่านิยมเพ็ญ Phen Team

****P-H-E-N ******* P = Professional = เป็นมืออาชีพ (เสียสละ สามัคคี มีวินัย) ****** H = Happiness = มีความสุข (เสมอภาค โปร่งใส เป็นธรรม) ******** E = Excellence เป็นต้นแบบ (บริหารยอด วิชาการเยี่ยม บริการเป็นเลิศ) ********* N = Network มีส่วนร่วม (ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ)*******






ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

***** เรื่อง รับขึ้นทะเบียน สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี ***** เป็นหน่วยบริการตามกฏหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ๑๐๔๕) พ.ศ.๒๕๖๕ ***** ประเภท หน่วยบริการที่รับส่งต่อเฉพาะด้านแพทย์แผนไทย ***** ตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๕ **** ประกาศ ณ วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๕ *******






ค้นหาข่าว โดย ใช้ข้อความ คำสำคัญ ที่เกี่ยวข้อง

วันเสาร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2553

พรบ.เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ.2525

พรบ.เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ.2525

พระราชบัญญัติ
เชื้อโรคและพิษจากสัตว์
พ.ศ. ๒๕๒๕
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๕
เป็นปีที่ ๓๗ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการ
โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการควบคุมเชื้อโรคและพิษที่มาจากสัตว์ซึ่งเป็นภัย
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์พ.ศ. ๒๕๒๕”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติควบคุมเชื้อโรคและพิษที่มาจากสัตว์ซึ่งเป็นภัย พุทธศักราช ๒๔๗๕
บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“เชื้อโรค” หมายความว่า
(๑) เชื้อจุลินทรีย์
(๒) เชื้ออื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
(๓) ผลิตผลจาก (๑) หรือ (๒)
ทั้งนี้ เฉพาะที่ทำให้เกิดโรคในคน ปศุสัตว์ สัตว์พาหนะ หรือสัตว์อื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง
“พิษจากสัตว์” หมายความว่า พิษที่เกิดจากสัตว์ที่ทำให้เกิดโรคในคน ปศุสัตว์สัตว์พาหนะ หรือสัตว์อื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง เช่น พิษจากงู พิษจากแมลง และพิษจากปลาปักเป้า
“ผลิต” หมายความว่า เพาะ ผสม ปรุง แปรสภาพ แบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุ
“จำหน่าย” หมายความว่า ขาย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ให้ สูญหาย เสียหาย ทิ้งหรือทำลาย
“นำเข้า” หมายความว่า นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร
“ส่งออก” หมายความว่า นำหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร
“นำผ่าน” หมายความว่า นำหรือส่งผ่านราชอาณาจักรโดยมีการขนถ่ายหรือเปลี่ยนพาหนะ
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๕ ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต ครอบครอง จำหน่าย นำเข้า ส่งออกหรือนำผ่านซึ่งเชื้อโรค หรือพิษจากสัตว์ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี
การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๕/๑ บทบัญญัติตามมาตรา ๕ ไม่ใช้บังคับแก่กระทรวง ทบวง กรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษาทางวิทยาศาสตร์หรือสถานพยาบาลที่เป็นหน่วยงานของรัฐ องค์การเภสัชกรรม และสภากาชาดไทย ทั้งนี้ เฉพาะในงานอันเกี่ยวกับการควบคุมโรค การป้องกันโรค การบำบัดโรค การศึกษาหรือการวิจัย
หน่วยงานที่ได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๖ อธิบดีจะออกใบอนุญาตให้ผลิต ครอบครอง จำหน่าย นำเข้า ส่งออกหรือนำผ่านซึ่งเชื้อโรค หรือพิษจากสัตว์ได้ เมื่อปรากฏว่าผู้ขออนุญาต
(๑) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์
(๒) มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย
(๓) ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๔) ไม่เคยต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิดซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ถือเอาการกระทำโดยทุจริตเป็นองค์ประกอบ หรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมเชื้อโรคและพิษที่มาจากสัตว์ซึ่งเป็นภัย หรือพระราชบัญญัตินี้ และความผิดที่กระทำนั้นมีอัตราโทษถึงจำคุก
(๕) มีสถานที่ผลิต สถานที่ครอบครอง สถานที่จำหน่าย หรือสถานที่เก็บ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต การจำหน่าย การเก็บ การควบคุม หรือการรักษาคุณภาพของเชื้อโรคหรือพิษจากสัตว์ ทั้งนี้ให้มีลักษณะและจำนวนตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ในกรณีนิติบุคคลเป็นผู้ขออนุญาต ผู้แทนของนิติบุคคลนั้นต้องมีคุณสมบัติ ตาม(๑) (๒) และไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม (๓) หรือ (๔)
มาตรา ๗ ประเภทของใบอนุญาตสำหรับเชื้อโรค และพิษจากสัตว์มีดังนี้
(๑) ใบอนุญาตผลิต เชื้อโรค และพิษจากสัตว์
(๒) ใบอนุญาตครอบครอง เชื้อโรค และพิษจากสัตว์
(๓) ใบอนุญาตจำหน่าย เชื้อโรค และพิษจากสัตว์
(๔) ใบอนุญาตนำเข้า เชื้อโรค และพิษจากสัตว์
(๕) ใบอนุญาตส่งออก เชื้อโรค และพิษจากสัตว์
(๖) ใบอนุญาตนำผ่าน เชื้อโรค และพิษจากสัตว์
ให้ถือว่าผู้ได้รับใบอนุญาตตาม (๑) (๔) (๕) หรือ (๖) เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตตาม(๒) และ (๓) สำหรับเชื้อโรค หรือพิษจากสัตว์ที่ตนผลิต นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านนั้นด้วย แล้วแต่กรณี
ให้ถือว่าผู้ได้รับอนุญาตตาม (๓) เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตตาม (๒) ด้วย
มาตรา ๘ ใบอนุญาตตามมาตรา ๕ ให้ใช้ได้จนถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคมของปีที่ออกใบอนุญาต ถ้าผู้รับใบอนุญาตประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอเสียก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ เมื่อได้ยื่นคำขอแล้วให้ประกอบกิจการต่อไปได้จนกว่าอธิบดีจะสั่งไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตนั้น
การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๙ ในกรณีอธิบดีไม่ออกใบอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตผู้ขอรับใบอนุญาตหรือผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือของอธิบดีแจ้งการไม่ออกใบอนุญาต หรือไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต
คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด
ในกรณีอธิบดีไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต ก่อนที่รัฐมนตรีจะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามวรรคสอง รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ประกอบกิจการไปพลางก่อนได้ เมื่อมีคำขอของผู้อุทธรณ์
มาตรา ๑๐ ในกรณีใบอนุญาตสูญหาย ถูกทำลายหรือชำรุดในสาระสำคัญ ให้ผู้รับใบอนุญาตแจ้งต่ออธิบดีและยื่นขอรับใบแทนใบอนุญาตภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบถึงการสูญหาย ถูกทำลายหรือชำรุดดังกล่าว
การขอรับใบแทนใบอนุญาตและการออกใบแทนใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๑๑ ในการปฏิบัติหน้าที่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) เข้าไปในสถานที่ผลิต สถานที่ครอบครอง สถานที่จำหน่ายหรือสถานที่เก็บซึ่งเชื้อโรคหรือพิษจากสัตว์ ในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกหรือในเวลาทำการของสถานที่นั้นเพื่อตรวจสอบหรือควบคุมให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
(๒) นำเชื้อโรคหรือพิษจากสัตว์ในปริมาณพอสมควรไปเป็นตัวอย่างเพื่อตรวจสอบหรือวิเคราะห์
(๓) เรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากผู้รับอนุญาตหรือจากบุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง
(๔) ยึดหรืออายัดเชื้อโรคหรือพิษจากสัตว์และเครื่องมือเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ตลอดจนภาชนะหรือหีบห่อบรรจุและเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดี ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
(๕) สั่งให้บุคคลใด ๆ มาให้ถ้อยคำ หรือให้ส่งบัญชี เอกสารหรือหลักฐานอื่น ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าถ้อยคำ บัญชี เอกสารหรือหลักฐานดังกล่าวมีประโยชน์แก่การค้นพบการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้รับใบอนุญาตหรือบรรดาบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกตามสมควร
มาตรา ๑๑/๑ สิ่งที่ยึดหรืออายัดไว้ตามมาตรา ๑๑ (๔) ถ้าไม่ปรากฏเจ้าของหรือพนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือศาลไม่พิพากษาให้ริบและผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองมิได้ร้องขอรับคืนหรือมิได้ร้องขอให้ถอนการอายัดภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้ยึดหรืออายัดหรือวันที่ทราบคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีหรือวันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณี ให้ตกเป็นของกระทรวงสาธารณสุข
มาตรา ๑๑/๒ ถ้าสิ่งที่ยึดหรืออายัดไว้ตามมาตรา ๑๑ (๔) เป็นของเสียง่ายหรือค่าใช้จ่ายในการเก็บไว้จะเกินส่วนกับค่าแห่งสิ่งของนั้น อธิบดีจะสั่งให้จัดการทำลายสิ่งนั้นเสียหรือจัดการตามควรแก่กรณีตามวิธีการที่อธิบดีกำหนดก็ได้
ในกรณีที่สิ่งที่ยึดหรืออายัดไว้ตามวรรคหนึ่งอาจจำหน่ายได้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการขายทอดตลาดหรือขายให้แก่หน่วยงานของรัฐ เงินที่ขายได้หักค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา การจำหน่ายและค่าภาระที่เกี่ยวข้องแล้ว ได้เงินจำนวนสุทธิเท่าใดให้ยึดเงินนั้นไว้แทน
มาตรา ๑๑/๓ ถ้าสิ่งที่ยึดหรืออายัดไว้ตามมาตรา ๑๑ (๔) หากเก็บไว้จะเป็นอันตรายต่อสาธารณชน อธิบดีจะสั่งให้จัดการทำลายสิ่งนั้นเสียตามวิธีการที่อธิบดีกำหนดก็ได้
มาตรา ๑๑/๔ ในกรณีที่ต้องทำลายหรือจัดการตามควรแก่กรณีกับสิ่งของที่ยึดหรืออายัดไว้ตามมาตรา ๑๑/๒ หรือมาตรา ๑๑/๓ แล้วแต่กรณี หากมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นให้เจ้าของสิ่งของดังกล่าวมีหน้าที่จ่ายหรือชดใช้เงินจำนวนนั้นให้แก่กระทรวงสาธารณสุข
มาตรา ๑๒ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง
บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๑๒/๑ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๑๓ ห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาต
(๑) ผลิต ครอบครอง จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านซึ่งเชื้อโรค หรือพิษจากสัตว์ไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต
(๒) ผลิต ครอบครอง จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านซึ่งเชื้อโรค หรือพิษจากสัตว์นอกสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาต เว้นแต่เป็นการจำหน่ายตรงต่อผู้รับใบอนุญาตรายอื่น
มาตรา ๑๔ ผู้รับใบอนุญาตต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้
(๑) ทำบัญชีรายเดือนแสดงปริมาณการผลิต ครอบครอง จำหน่าย นำเข้าส่งออก หรือนำผ่านซึ่งเชื้อโรค หรือพิษจากสัตว์ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
(๒) จัดให้มีฉลากแสดงชื่อและชื่อทางวิทยาศาสตร์ของเชื้อโรค หรือพิษจากสัตว์ที่ใช้ในภาษาอังกฤษ ปริมาณที่บรรจุ วันเดือนปีที่ผลิต และสถานที่ผลิต ที่หีบห่อบรรจุ ส่วนที่ภาชนะบรรจุ อย่างน้อยให้แสดงชื่อ และชื่อทางวิทยาศาสตร์ของเชื้อโรคหรือพิษจากสัตว์ที่ใช้ในภาษาอังกฤษ
(๓) จัดให้มีการควบคุมการผลิต ครอบครอง จำหน่าย นำเข้า ส่งออก นำผ่านหรือขนส่งซึ่งเชื้อโรค หรือพิษจากสัตว์โดยมิให้มีการแพร่กระจาย ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
(๔) การอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๑๕ เมื่อปรากฏว่าผู้รับใบอนุญาตผู้ใดฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้หรือกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือเตือนให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง แต่ทั้งนี้ไม่เป็นเหตุลบล้างความผิดที่ได้กระทำไปแล้ว ถ้าผู้รับใบอนุญาตไม่ปฏิบัติตามอธิบดีมีอำนาจสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้ ในกรณีสั่งพักใช้ใบอนุญาต อธิบดีมีอำนาจสั่งพักครั้งละไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวัน ทั้งนี้ ผู้ถูกสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่ง
คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด
การอุทธรณ์คำสั่งต่อรัฐมนตรีไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต
มาตรา ๑๖ ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตประสงค์จะเลิกดำเนินกิจการตามใบอนุญาต ให้ผู้รับใบอนุญาตแจ้งเป็นหนังสือไปยังอธิบดีภายในสิบห้าวันก่อนวันเลิกดำเนินกิจการ
มาตรา ๑๗ ในกรณีที่รัฐมนตรีมีคำวินิจฉัยยืนตามคำสั่งของอธิบดีที่ไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตตามมาตรา ๙ หรือในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตถูกเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๑๕ หรือเลิกดำเนินกิจการตามมาตรา ๑๖ ให้ผู้รับใบอนุญาตทำลายเชื้อโรค หรือพิษจากสัตว์ที่เหลืออยู่ ภายใต้การควบคุมของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือจะจำหน่ายแก่ผู้รับใบอนุญาตรายอื่น หรือแก่ผู้ซึ่งอธิบดีเห็นสมควรได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้ทราบคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตตามมาตรา ๙ หรือวันที่ได้ทราบคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๑๕ หรือวันที่เลิกดำเนินกิจการตามมาตรา ๑๖ แล้วแต่กรณี เว้นแต่อธิบดีจะผ่อนผันขยายระยะเวลาดังกล่าวให้
ถ้าผู้รับใบอนุญาตไม่กระทำการดังกล่าวภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้ากระทำการนั้นแทนต่อไปจนเสร็จสิ้น โดยเรียกค่าใช้จ่ายจากผู้รับใบอนุญาตนั้น
มาตรา ๑๘ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๙ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดผลิต ครอบครอง จำหน่าย นำเข้า ส่งออกหรือนำผ่านซึ่งเชื้อโรค หรือพิษจากสัตว์ภายหลังที่ใบอนุญาตสิ้นอายุแล้วโดยมิได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับวันละไม่เกินห้าร้อยบาท ตลอดเวลาที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ
มาตรา ๒๐ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท
มาตรา ๒๑ ผู้ใดไม่ส่งเอกสารหรือหลักฐานตามมาตรา ๑๑ (๓) ไม่มาให้ถ้อยคำหรือไม่ส่งบัญชี เอกสารหรือหลักฐานอื่นตามมาตรา ๑๑ (๕) หรือขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๑๑ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
มาตรา ๒๒ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๓ (๑) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๒๓ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดฝ่าฝืน ๑๓ (๒) หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๔(๑) หรือ (๔) หรือมาตรา ๑๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
มาตรา ๒๔ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๔ (๒) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
มาตรา ๒๕ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๔ (๓) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๒๕/๑ บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษปรับสถานเดียวให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจเปรียบเทียบได้
มาตรา ๒๖ ใบอนุญาตซึ่งออกตามความในกฎหมายว่าด้วยการควบคุมเชื้อโรคและพิษที่มาจากสัตว์ซึ่งเป็นภัยซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้คงใช้ได้จนกว่าจะสิ้นอายุ ถ้าผู้รับใบอนุญาตดังกล่าวประสงค์จะดำเนินการต่อไป และได้ยื่นคำขออนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ให้ดำเนินกิจการที่ได้รับอนุญาตตามใบอนุญาตเดิมไปได้จนกว่าจะได้รับใบอนุญาตใหม่ หรือถึงวันที่อธิบดีได้แจ้งให้ทราบถึงการไม่อนุญาต และในกรณีที่ได้รับใบอนุญาตใหม่ ให้ดำเนินกิจการให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต
มาตรา ๒๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ออกกฎกระทรวง กำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ ยกเว้นค่าธรรมเนียม และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวง เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ป. ติณสูลานนท์
นายกรัฐมนตรี


อัตราค่าธรรมเนียม
(๑) คำขอ ฉบับละ ๑๐ บาท
(๒) ใบอนุญาตผลิต เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ ฉบับละ ๕๐๐ บาท
(๓) ใบอนุญาตครอบครอง เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ ฉบับละ ๕๐๐ บาท
(๔) ใบอนุญาตจำหน่าย เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ ฉบับละ ๕๐๐ บาท
(๕) ใบอนุญาตนำเข้า เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ ฉบับละ ๕๐๐ บาท
(๖) ใบอนุญาตส่งออก เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ ฉบับละ ๕๐๐ บาท
(๗) ใบอนุญาตนำผ่าน เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ ฉบับละ ๕๐๐ บาท
(๘) ใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ ๑๐๐ บาท
(๙) การต่ออายุใบอนุญาตครั้งละเท่ากับ
ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประเภทนั้น ๆ
แต่ละฉบับ


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องด้วยพระราชบัญญัติควบคุมเชื้อโรคและพิษที่มาจากสัตว์ซึ่งเป็นภัย พุทธศักราช ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนี้ มีบทบัญญัติว่าด้วยการควบคุมการผลิตครอบครอง จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านซึ่งเชื้อโรคและพิษที่มาจากสัตว์ซึ่งเป็นภัย ยังไม่รัดกุมและเหมาะสมแก่ภาวะการณ์ในปัจจุบัน สมควรปรับปรุงเพื่อความปลอดภัยและสวัสดิภาพของประชาชน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๔
มาตรา ๑๐ ใบอนุญาตที่ได้ออกก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับ ให้คงใช้ได้ต่อไปจนถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคมของปีที่ใบอนุญาตนั้นสิ้นอายุ
ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาตซึ่งสิ้นอายุตามวรรคหนึ่งจะต้องยื่นคำขอก่อนวันที่ ๓๑ ธันวาคมของปีที่ใบอนุญาตนั้นสิ้นอายุ เมื่อได้ยื่นคำขอแล้ว ให้ประกอบกิจการต่อไปได้จนกว่าอธิบดีจะสั่งไม่อนุญาตให้ต่อใบอนุญาตนั้น และให้นำมาตรา ๘ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ. ๒๕๒๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๑๑ สถาบันการศึกษาทางวิทยาศาสตร์หรือสถานพยาบาลซึ่งไม่ได้รับยกเว้นตามมาตรา ๕/๑ แห่งพระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ. ๒๕๒๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ที่เพาะเชื้อโรคหรือพิษจากสัตว์เพื่อการชันสูตรโรค การบำบัดโรค การควบคุมโรค หรือการเรียนการสอนอยู่แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากประสงค์จะเพาะเชื้อโรคหรือพิษจากสัตว์ต่อไป ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเมื่อได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตแล้ว ให้เพาะเชื้อโรคหรือพิษจากสัตว์ต่อไปได้จนกว่าอธิบดีจะสั่งไม่อนุญาต
มาตรา ๑๒ บรรดากฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ. ๒๕๒๕ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้คงใช้บังคับได้ต่อไปจนกว่าจะได้มีกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ. ๒๕๒๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๑๓ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ. ๒๕๒๕ เพื่อกำหนดประเภทของหน่วยงานที่ไม่ต้องมีใบอนุญาตผลิต ครอบครอง จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านซึ่งเชื้อโรคหรือพิษจากสัตว์แต่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎกระทรวงกำหนดและแก้ไขกำหนดวันสิ้นอายุใบอนุญาตโดยให้สิ้นอายุพร้อมกันในวันที่ ๓๑ ธันวาคมของปีที่ออกใบอนุญาต เพื่อความสะดวกต่อการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้องในการต่ออายุใบอนุญาต รวมทั้งเพิ่มอำนาจให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่และกำหนดหลักเกณฑ์ให้สิ่งของที่ถูกยึดหรืออายัดตกเป็นของกระทรวงสาธารณสุขหรือสามารถจัดการทำลายหรือดำเนินการตามควรแก่กรณีกับสิ่งของนั้นก่อนคดีถึงที่สุดได้ หากเห็นว่าสิ่งของนั้นถ้าเก็บไว้จะเป็นอันตรายต่อสาธารณชนหรือเป็นของเสียง่ายหรือค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาจะสูงเกินกว่ามูลค่าของสิ่งของตลอดจนกำหนดให้อธิบดี หรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้ เพื่อให้เหมาะสมและคล่องตัวในการปฏิบัติงานยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

รวมประกาศและ ข่าว สำนักงานสาธาณสุขอำเภอเพ็ญ ทั้งหมด

ตารางปฏิบัติงานสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเพ็ญ